จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลในการ ปรับรูปแบบบริการฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฐานชีวิตวิถีใหม่ ลดความแออัด เพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ 12 มิ.ย.2563 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการปรับรูปแบบการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฐานชีวิตวิถีใหม่ New Normal เพื่อให้ผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ลดความแออัด เพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย สภากายภาพบำบัด สมาคมนักกิจรรมบำบัด/อาชีวบำบัดแห่งประเทศไทย สมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย สมาคมกายอุปกรณ์ไทย ผู้แทนโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม จัดทำแนวทางปฏิบัติการสำหรับสถานพยาบาลในการปรับรูปแบบบริการฟื้นฟูในสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ให้สถานพยาบาลนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของสถานพยาบาลแต่ละพื้นที่ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า แนวทางปฏิบัติประกอบด้วย 1.การใช้เทคโนโลยีคัดกรองก่อนมาถึงโรงพยาบาลและก่อนเข้ารับบริการฟื้นฟู 2.การจัดกลุ่ม คัดแยก จัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วย โดยประเมินจากความจำเป็นของบริการฟื้นฟู และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แบ่งเป็น กลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับบริการฟื้นฟูที่สถานพยาบาล ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองในระยะทองคือ 6 เดือนแรก ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน และกลุ่มผู้สูงอายุ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อที่อาการไม่เปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นต้องมาสถานพยาบาล 3.ตรวจหาเชื้อโควิด 19 สำหรับผู้ที่ความเสี่ยง เช่น มีปัญหาการกลืน และการขับเสมหะ 4.ปรับสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาล โดยคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายเชื้อ ได้แก่ การระบายอากาศ การจัดระยะห่างของที่นั่งรอคอย/ เตียงบำบัด ความสะอาดของอุปกรณ์ อาคารสถานที่ เป็นต้น 5.การนัดหมายล่วงหน้า ผ่านไลน์ โทรศัพท์ หรือเว็บไซต์ นอกจากนี้ ยังเพิ่มรูปแบบบริการฟื้นฟูเพื่อการเข้าถึง ได้แก่ การฟื้นฟูทางไกลด้วย VDO call (Tele-rehabilitation) การเยี่ยมบ้านให้คำแนะนำการฟื้นฟูโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ การให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บริการส่งยาทางไปรษณีย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาการคงที่ และสร้างระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นในเครือข่ายสถานพยาบาล โดยมีสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลฟื้นฟูระดับตติยภูมิ เป็นต้นแบบการดำเนินงาน