กรมชลประทาน เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก หลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ชาวบ้านให้ความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการที่กรมชลประทานกำหมดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง ในพื้นที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ซึ่งเป็นช่วงท้ายของแม่น้ำวัง ก่อนที่จะไหลบรรจบกับแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อนกิ่วลมประมาณ 193 กิโลเมตร ในช่วงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำในแม่น้ำวังจะขึ้นอยู่กับการระบายน้ำของเขื่อนกิ่วลม ทั้งนี้ เมื่อสิ้นฤดูฝนปี 2562 (ณ 1 พ.ย. 62) เขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 51 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้วางแผนการระบายเพื่อรักษาระบบนิเวศและอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนกิ่วลมไปไม่ถึงพื้นที่ช่วงท้ายของแม่น้ำวัง โดยในช่วงต้นฤดูแล้งเกษตรกรจะทำฝายชั่วคราวทำขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเก็บกักน้ำในแม่น้ำวังเป็นช่วงๆ ตลอดลำน้ำวัง ซึ่งนพื้นที่อำเภอสามเงา มีฝายชั่วคราวประมาณ 17 แห่ง เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง หากไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนกิ่วลมหรือระบายน้ำในปริมาณน้อย ระดับน้ำในแม่น้ำวังตอนล่างก็จะลดลงเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ โดยเกษตรกรในพื้นที่ต่างทราบข้อมูลเป็นอย่างดี จึงไม่มีการเพาะปลูกพืชทั้งข้าวและพืชไร่ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิต แต่จะมีเพียงการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น โดยอาศัยแหล่งน้ำบาดาลเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ทำการสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอสามเงา พบว่ามีแก้มลิงที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ แก้มลิงหนองจระเข้ ตำบลยกกระบัตร ความจุ 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร แก้มลิงหนองตีนดอย ตำบลยกกระบัตร ความจุ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และแก้มลิงหนองชำ ตำบลวังหมัน ความจุ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา มีน้ำใช้การรวมทั้ง 3 แห่งประมาณ 10.20 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่อำเภอสามเงา ซึ่งโครงการชลประทานตาก ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 16 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 3 คัน เข้าไปสนับสนุนการช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง