อธิบดีกรมชลฯ ผลักดันเป้าหมายก้าวต่อไปปีที่ 119 เร่งรัดโครงการพระราชดำริ 106 โครงการ เพิ่มศักยภาพกักเก็บน้ำทั่วประเทศ-เชื่อมคารงข่ายน้ำ หนุน อีอีซี ภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเปิดงานครบรอบ 118 ปี กรมชลประทานว่า ก้าวต่อไปในปีที่119 จะเดินหน้านโยบาย RID.NO 1 ให้เกิดผลปฏิบัติให้มากขึ้นใน 6 ด้าน คือการเร่งรัดเดินหน้าโครงการพระราชดำริ ในปี2561-66 มีโครงการวางไว้ตามแผน มีประมาณ216โครงการของกรมชลประทาน ปัจจุบันแล้วเสร็จ 111โครงการ และจากนี้จะเร่งรัดในส่วนที่เหลือ ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งความเหมาะสมโครงการ การศึกษาสิ่งแวดล้อม จัดวางงบประมาณ ซึ่งโครงการพระราชดำริ จะมาจากพระราชดำริโดยตรง มาจาการถวายฎีกาของประชาชน หรือมาจากโครงการภาครัฐจัดถวาย ทั้งนี้เพื่อสืบสาน ต่อยอดโครงการพระราชดำริ นอกจากนั้นยังมีโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ สร้างเสริมศักยภาพการเก็บน้ำให้มากขึ้นในโครงการเหลียวหลัง โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่ยื่นของบ เป็นเงิน 40,000 ล้านบาทใน พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่สภาพัฒน์ฯจะพิจารณาว่าจะเห็นชอบเท่าไหร่ อย่างไร รวมทั้งในปี63 จะเน้นการพัฒนาจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จัดสรรน้ำในแปลงนา ตอบโจทย์นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ที่สามารถใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการคือการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี ในพื้นที่3จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลส่งเสริม ซึ่งจะเห็นว่าในฤดูแล้งปี63ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก กังวลเรื่องน้ำจะไม่พอใช้ในฤดูแล้ง จะเห็นว่าการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำที่กรมชลฯดำเนินการมา ทำให้เห็นว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมสามารถบริหารจัดการได้ ในอนาคตจะเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด “ในปี 61-63 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บน้ำต้นทุน 570 ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.1 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 5ล้านไร่ ซึ่งการที่กรมชลฯสามารถบริหารจัดน้ำผ่านพ้นวิกฤติแล้ง-ท่วม มาได้ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการเก็บน้ำมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล รมต.กระทรวงเกษตรฯที่สนับสนุน รวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นหัวใจสำคัญช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับกรม ดังนั้นในอนาคตจะส่งเสริมให้มีกลุ่มผู้ใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศเพราะความสำเร็จในการทำงานอยู่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชน”นายทองเปลว กล่าว ทั้งนี้นโยบายเร่งด่วนที่รมว.เกษตรฯได้สั่งการให้กรมสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยการจัดทำเครื่องมือต่างๆที่ใช้ส่วนผสมจากยางพารา ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ในการทำพาราล็อคบูม กั้นลำน้ำเพื่อสกัดผักตบชวา การจัดหาเครื่องมือเครื่องจักร พัฒนาเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมชลประทานให้ทันสมัยเพื่อช่วยประชาชน เกษตรกรได้ทันเหตุการณ์