นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)หรือ ศบค.เปิดเผยว่า หอการค้าไทยฯได้มีส่วนร่วมกับ ศบค.ในการสนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของโควิด-19 และได้มีข้อเสนอของภาคเอกชนในหลายประเด็นตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ มาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ และมาตรการสำหรัการเปลี่ยนผ่านเบื้องต้นในการปรับพฤติกรรมของประชาชน การเตรียมความพร้อมการเปิดสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่ทุกสถานประกอบการต้องปฏิบัติและคู่มือสำหรับสถานประกอบการ มาตรการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ และผู้ประกอบการ การส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์คฟอร์มโฮม) การจัดทำระบบเพื่อช่วยเหลือผู้ตกงาน และการศึกษาแนวทางการปรับตัวของธุรกิจในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง สำหรับมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหอการค้าไทยฯ ประเมินว่าหลังคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 3 สำหรับกิจการและกิจกรรมในกลุ่มสีเหลืองซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับปานกลางถึงสูง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1-2 แสนล้านบาท และตั้งแต่มีการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 1 ในกลุ่มสีขาวหรือความเสี่ยงต่ำ และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อวันที่ 3 พ.ค.63 และ ระยะที่ 2 ในกลุ่มสีเขียวหรือความเสี่ยงปานกลาง วันที่ 17 พ.ค.63 ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้จากการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ณ เดือนพ.ค.63 ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยจะติดลบ 3-5% ซึ่งเป็นระดับดีกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าจะติดลบ 6.7% เนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีมาตรการเยียวยาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง