เผยผลสำรวจยังใส่ หน้ากากมากสุด 91.5% ล้างมือบ่อยๆ 83.9% กินร้อน-ใช้ช้อนกลาง 83.7% เว้นระยะห่าง 66% ขณะเดินทางข้ามจังหวัดสูงขึ้นเล็กน้อย โดยแนวโน้มสวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้านลดลง ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เปิดเผยผลสำรวจการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประชาชนว่า ได้ทำสำรวจทุกสัปดาห์ตั้งแต่เดือนเม.ย.63 โดยให้ อสม.เคาะประตูสอบถามถึงบ้าน สอบถามทางโทรศัพท์โดยนักศึกษาแพทย์ รามาธิบดี และทางออนไลน์ รวมกว่า 2 แสนราย พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมป้องกันตนเองในระดับที่ดี ขณะที่หลังรัฐบาลมีการผ่อนปรนระดับพฤติกรรมการป้องกันตนเองลดลง ผลสำรวจของสัปดาห์ล่าสุดระหว่างวันที่ 29 พ.ค.- 4 มิ.ย.63 พบว่า ภาพรวมพฤติกรรมป้องกันตนเองอยู่ที่ 75.7% โดยการใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลาเป็นพฤติกรรมที่ประชาชนปฏิบัติมากที่สุด 91.5% รองลงมา ได้แก่ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 83.9% กินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลางของตนเอง 83.7% ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร 66% และระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก 58.8% ส่วนการเดินทางออกนอกจังหวัด พบว่าแนวโน้มการเดินทางออกนอกจังหวัดสูงขึ้นเล็กน้อย เหตุผลหลักคือไปทำงานหรือมีธุระจำเป็น สำหรับสถานที่ที่ไปบ่อยคือ ตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ทำงาน ร้านอาหารแบบนั่งทาน ศาสนสถาน และพบว่ามาตรการป้องกันโรคของแต่ละสถานที่ยังทำได้ไม่เต็มที่ เช่น การสวมหน้ากากของพนักงาน/ผู้รับบริการ การจัดจุดล้างมือ การเว้นระยะห่าง สำหรับการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ พบว่ามีการจัดมาตรการป้องกันโรคค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ความคิดเห็นต่อการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เช่น การเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ 51% คิดว่าควรเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศในเดือนตุลาคมขึ้นไป รองลงมา ได้แก่ กรกฎาคม ร้อยละ 20.8% โดย 99% คิดว่าควรคัดกรองและกักกันตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ 14 วัน ด้านนพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน โดยกรมควบคุมโรค หรือดีดีซีโพล (DDC Poll) โดยสำรวจทั้งออฟไลน์ 4 ครั้ง และออนไลน์จำนวน 8 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.- วันที่ 6 มิ.ย. 63 สรุปได้ว่า ประชาชนมีแนวโน้มในการสวมหน้ากากลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรค ได้แก่ เพศชายอายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มจะออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเน้นการกระตุ้นรณรงค์ให้สวมหน้ากากเพิ่มขึ้น ส่วนคำถามว่าจะเลิกสวมหน้ากากเมื่อไหร่ 53.5% ระบุว่าจะสวมหน้ากากต่อเนื่อง ส่วน 44.4% จะเลิกสวมเมื่อไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศ 13.6% เมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ 10.5% เมื่อไม่มีอาการป่วย