NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ปลูกผักในอวกาศ หนึ่งในการทดลองบน #สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่ไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้กับการเดินทางสำรวจอวกาศ แต่ยังย้อนกลับมาสู่ชีวิตประจำวันของพวกเราบนโลก การศึกษาผลกระทบของแรงโน้มถ่วงต่อพืชเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมการสำรวจสำหรับนักบินอวกาศและการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตแหล่งอาหารมวลน้อยแต่มีพลังงานสูง ระหว่างการเดินทางบนยานอวกาศ ซึ่งจะช่วยให้นักบินอวกาศมีแหล่งทรัพยากรอาหารที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง โจวเว่ยเจีย อดีตเจ้าหน้าที่ของศูนย์ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อวกาศวิสคอนซิน (Wisconsin center for space automation and robotics) แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทดลองปลูกพืชที่ทนทานและใช้พื้นที่น้อยในสภาวะเกือบไร้น้ำหนัก (microgravity) เรียกว่า The Advanced Astroculture™ (ADVASC) บนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งพืชตัวอย่างที่ใช้คือต้นอะราบิดอพซิส (arabidopsis thaliana) ไม้ดอกขนาดเล็กในกลุ่มเดียวกับมัสตาร์ด และเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง การปลูกพืชบนสถานีอวกาศให้สามารถเจริญเติบโตได้ตามวิถีธรรมชาติ และการปลูกพืชซ้ำจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการเก็บเกี่ยว เป็นสิ่งสำคัญและท้าทายนักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมนุษย์จะสามารถใช้ปลูกเป็นอาหารระหว่างเดินทางสำรวจอวกาศนาน ๆ ต่อไปในอนาคต โดยปกติแล้วพืชจะผลิตแก๊สเอทิลีนออกมาเพื่อทำให้ผลไม้สุกเร็วขึ้น แต่การปลูกพืชในระบบปิดจะทำให้ผลสุกเน่าเสียได้ง่าย ADVASC จึงออกแบบห้องเพาะปลูกพืชที่มีเครื่องฟอกอากาศคอยกำจัดแก๊สดังกล่าว ป้องกันการเน่าเสียและเพื่อให้พืชอยู่ได้นานขึ้น เครื่องฟอกอากาศจะดูดอากาศผ่านท่อที่เคลือบด้วยไทเทเนียมไดออกไซด์บาง ๆ เข้าสู่ด้านในของท่อที่ฉายรังสีอัลตราไวโอเลต ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่เปลี่ยนแก๊สเอทิลีนให้กลายเป็นน้ำกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นประโยชน์กับพืช การกำจัดเอทิลีนเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผลผลิตของพืชในระบบปิด ไม่ใช่แค่ในอวกาศ แต่ยังรวมถึงบนโลก หลักการทำงานของเครื่องฟอกอากาศถูกนำไปใช้ในประเทศอินเดีย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อใช้รักษาความสดใหม่ของพืช ผัก ผลไม้ ช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเน่าเสียระหว่างเดินทางเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ ยังถูกนำไปใช้ในทางการแพทย์ เพื่อกำจัดเเบคทีเรียที่เป็นอันตรายในระหว่างการผ่าตัด เช่น สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และเอนเทอโรคอคคัส (Enterococcus) และนอกเหนือจากการกำจัดเชื้อโรคในอากาศ เทคโนโลยีนี้ยังช่วยเรื่องการกรองฝุ่นละอองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกด้วย เรียบเรียง : กฤษณะ ล่ามสมบัติ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/mission_pages/station/research/news/b4h-3rd/hh-plan...