ถือเป็นอีกผลิตภัณฑ์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กับเมล่อนในโรงเรือน ดร.กชกร ชำนาญกิตติชัย ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กล่าวถึง ผลผลิตทางการเกษตรเมล่อนในโรงเรือน ว่า โครงการปลูกเมล่อนในโรงเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ถือเป็นนโยบายสู่การปฏิบัติจาก รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมสด. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรให้มีประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ เวลา หรือคน ซึ่งการปลูกเมล่อนในโรงเรือนใช้พื้นที่ของ บริษัท โรงสีข้าวสวนดุสิต จำกัด จ.ปราจีนบุรี เป็นสถานที่ทำการเพาะปลูก จึงได้ส่งพนักงานของ บริษัทโรงสีข้าว สวนดุสิต จำนวน 2 คน ไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง ณ Texas Farm จ.พิษณุโลก โดยมีอาจารย์ณรงค์ บุญมี และอาจารย์สุมาลา บุญมี เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนกระบวนการปลูกจนถึงกระบวนการเก็บผลผลิต เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือนเศษ ซึ่งผลที่ได้รับเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก ดร.กชกร กล่าวต่อว่า เมล่อนสวนดุสิต เป็นสายพันธุ์กรีนเน็ต เพาะปลูกง่าย ทนต่อโรค ผลเมล่อนรูปทรงกลม ผิวตาข่ายแต่ไม่นูน เนื้อสีเขียว รสหวานจัด กรอบ อร่อย และเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ยอดฮิตที่นิยมปลูกกันในท้องตลาด เน้นการปลูกแบบปลอดสารพิษ และพิถีพิถัน ดูแลอย่างปราณีตตามแบบวัฒนธรรมสวนดุสิต 1 ลูก : 1 ต้น จึงมั่นใจในคุณภาพและได้ผลผลิตพร้อมจัดจำหน่ายทั้งหมด 182 ลูก ดร.กชกร ภารกิจในครั้งนี้ นอกเหนือจากรายได้ที่ได้จากการจัดจำหน่ายแล้ว หัวใจสำคัญของการปลูกเมล่อนในโรงเรือน คือ การทำงานเชิงบูรณาการทั้งในด้านองค์ความรู้ บุคลากรภายนอกและภายในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สามารถตอบโจทย์อธิการบดีได้ โดยเฉพาะการนำศักยภาพของบุคลากรออกมาพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ปล่อยให้เวลาสูญเปล่าและใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนในอนาคตมีแผนขยายเพิ่มให้มากขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ทางการเกษตรในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน สังคมทางการเกษตรอินทรีย์ไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมและผลผลิตทางการเกษตรต่อไป