คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีในสหรัฐอเมริกาช่างแสนสลับซับซ้อน จนได้กลายเป็นแผลฝังลึกเข้าไปในจิตใจของคนผิวสีมาช้านาน และเป็นเหตุทำให้ยุ่งเหยิงเกิดการก่อจลาจลมาครั้งแล้วครั้งเล่า โดยสำนักหยั่งเสียง “Pew Research” ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่เดือนนี้ว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่กว่า 59% เล็งเห็นว่า คนผิวขาวจะมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานและในด้านอื่นๆได้ดีกว่าคนผิวสี และคนอเมริกันส่วนใหญ่ถึง 56% ก็ยังมองต่อไปอีกว่า การเกิดเป็นคนผิวสีช่างแสนจะเสียเปรียบ!!! ส่วนการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” จากน้ำมือของตำรวจผิวขาวในเมืองมินนิอาโพลิส รัฐมินนิโซตาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ โดยตำรวจใช้เข่ากดลงไปที่คอของเขาระหว่างเข้าจับกุมควบคุมตัวนานกว่า 8 นาที จนมีผลทำให้เขาเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ทั้งนี้หลักฐานที่ได้จากวิดีโอที่สามารถบันทึกภาพเอาไว้ได้นั้น กลายเป็นประเด็นร้อนแบบสุดๆ และยังได้กลายเป็นตัวจุดประกายให้ประชาชนอดรนทนไม่ไหวลุกฮือออกมาประท้วงกันทั่วทั้งประเทศ และยังได้แพร่กระจายต่อไปในหลายๆประเทศอีกด้วย สำนักหยั่งเสียงของซีเอ็นเอ็นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนนี้ระบุว่า คนอเมริกันถึง 80% ลงความเห็นว่า การออกมาประท้วงต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อหันกลับไปดูถึงมาตรการแก้ปัญหาของผู้นำประเทศเยี่ยงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แล้วกลับปรากฏว่า เงียบฉี่ติดต่อไม่ได้เหมือนไม่มีคลื่นสัญญาณตอบรับ โดยมิได้ออกมาแสดงท่าทีรับผิดชอบและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ให้สมกับการเป็นผู้นำประเทศเลยแม้แต่น้อย ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจต่อคนอเมริกันเป็นอย่างสูง โดยการหยั่งเสียงของซีเอ็นเอ็นโพลเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนนี้ได้ออกมาระบุว่าเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมานี้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ตกฮวบลงไปกว่า 7% และจากการหยั่งเสียงของสำนักหยั่งเสียงยอดนิยมเกรดเอ “Monmouth University” ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนนี้เช่นเดียวกันว่า โศกนาฎกรรมในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งถึง 33% อีกทั้งการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มีต่อผู้ประท้วงก็มีผลทำให้คะแนนนิยมของเขาร่วงตกลงด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก Monmouth University Poll ที่ได้ออกมาระบุเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนนี้ว่าขณะนี้ “อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ได้รับแรงสนับสนุนสูงเหนือกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ถึง 11% คือ 52% ต่อ 41% ที่มีสูงมากกว่าเดือนพฤษภาคมถึง 50% ต่อ 41% ทั้งๆที่เขาก็มิได้ออกไปหาเสียงที่ใดเลย!!! ทั้งนี้ยังมีนักการเมืองในค่ายของพรรครีพับลิกันหลายๆคนปันใจหันไปสนับสนุนโจ ไบเดน ประเดิมเริ่มต้นด้วย “อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช” ที่ได้ออกมากล่าวแสดงเจตนารมณ์ว่า “จะไม่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ในการเลือกตั้งอีกห้าเดือนข้างหน้า” โดยมี “วุฒิสมาชิกมิตต์ รอมนีย์” ออกมาแสดงเจตนารมณ์ในทิศทางเดียวกันกับประธานาธิบดีบุช ตามมาติดๆด้วย “นายพลโคลิน พาวเวลล์” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้วุฒิสมาชิกมิตต์ รอมนีย์ ก็ได้เข้าร่วมเดินขบวนกับผู้ประท้วง ถือได้ว่าเขาคือวุฒิสมาชิกเพียงคนเดียวที่เข้าไปร่วมในการประท้วง จนกลายเป็นข่าวใหญ่พาดหัวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกๆฉบับ!!! ทั้งนี้วุฒิสมาชิกมิตต์ รอมนีย์ นับเป็นนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของค่ายพรรครีพับลิกัน และยังเคยได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการลงแข่งขันเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีกับบารัก โอบามา เมื่อปี 2008 วุฒิสมาชิกรอมนีย์ได้อธิบายถึงการที่เข้าไปร่วมในการประท้วงครั้งนี้ว่า “ข้าพเจ้าต้องการเข้าร่วมเป็นกระบอกเสียงต่อต้านการเหยียดสีผิว รวมถึงการใช้ความรุนแรง ที่พวกเราทุกคนจำต้องลุกขึ้นต่อสู้ ให้โลกได้รับรู้ว่า ชีวิตของคนผิวสีก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชนชาติอื่นๆด้วยเช่นกัน” อีกทั้งวุฒิสมาชิกรอมนีย์ยังเป็นวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันเพียงคนเดียวที่แสดงความกล้าหาญชาญชัยออกมายกมือแสดงเจตจำนงต้องการที่จะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ให้พ้นออกไปจากตำแหน่ง!!! การแสดงออกถึงจุดยืนด้านความยุติธรรมเช่นนี้ มิใช่เป็นของใหม่ใน “ตระกูลรอมนีย์” แต่อย่างใด ดั่งจะเห็นได้จากเมื่อปี 1968 บิดาของมิตต์ รอมนีย์ “จอร์จ รอมนีย์”ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯรัฐมิชิแกน ก็ได้เข้าร่วมในขบวนประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่คนผิวสีด้วยเช่นกัน ซึ่งครั้งนั้นถือเป็นข่าวดังเกรียวกราว อีกทั้งจอร์จ รอมนีย์ ผู้เป็นบิดาของมิตต์ รอมนีย์ ก็ยังเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญที่ต่อต้านสงครามเวียดนามอีกด้วย และหลังจากที่เขาเดินทางไปเยือนประเทศเวียดนามในปี 1967 เมื่อกลับสู่สหรัฐฯเขาได้ออกมากล่าวว่า “ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าถูกล้างสมอง” อนึ่งการประท้วงของคนอเมริกันในขณะนี้อาจจะเปรียบได้กับจุดแตกหักเมื่อปี 1968 ที่คนอเมริกันเคยลุกขึ้นประท้วงในเรื่องสงครามเวียดนาม โดยครั้งนั้นมีผลทำให้สังคมอเมริกันเกิดการแตกแยกกันอย่างหนัก จนมีการออกมาประท้วงสงครามเวียดนามกันอย่างต่อเนื่องเรื่อยไปจนกระทั่งสงครามยุติลงในปี 1975 ฉะนั้นการออกมาประท้วงกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ครั้งนี้ถือได้ว่าสร้างความแตกแยกและสร้างรอยร้าวขึ้นในสหรัฐฯที่ยากจะเยียวยาได้ ซึ่งไม่แตกต่างจากการประท้วงสงครามเวียดนามเมื่อครั้งอดีตอย่างใดเลย!!! อนึ่งการที่ประธานาธิบดีทรัมป์วางแผนว่าจะออกมากล่าวคำปราศรัยต่อคนอเมริกันทั่วทั้งประเทศ เพื่อเรียกร้องให้สร้างความสมานฉันท์นั้น นับว่าสายเกินการณ์ ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในทุกๆด้าน เพราะแรกเริ่มเดิมทีก่อนหน้าที่จะมีการลุกฮือออกมาประท้วงทั่วทั้งประเทศเช่นนี้ หากประธานาธิบดีทรัมป์เฉลียวใจสักนิดออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจและเอ่ยปากให้ความเป็นธรรมต่อการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ อย่างแข็งขันแล้วละก็ ผมเชื่อเหลือเกินว่า การประท้วงอย่างรุนแรงเช่นนี้คงจะไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน!!! ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ประท้วงเดินทางเข้าไปจนประชิดติดหน้าทำเนียบขาวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องวิ่งกันวุ่นรีบพาตัวประธานาธิบดีทรัมป์หนีหัวซุกหัวซุนหลบภัยเข้าไปในห้องใต้ดินภายในทำเนียบขาว แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาแก้ต่างเสียงอ่อยรักษาหน้าตัวเองว่า “เข้าไปตรวจสอบบังเกอร์ มิได้เข้าไปลี้ภัยแต่อย่างใด” และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ “รัฐมนตรียุติธรรม บิล บารร์” ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับฟอกซ์นิวส์ ดูๆไปแล้วขัดกับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาอธิบายอย่างสิ้นเชิง โดยรัฐมนตรีบิล บารร์ บอกว่า “ทั้งหมดทั้งมวลที่หน่วยอารักขาออกมาปฏิบัตินั้น เพื่อความปลอดภัยของประธานาธิบดีทรัมป์และครอบครัว” กล่าวโดยสรุปตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันแห่งการแข่งขันเลือกตั้งในอีกห้าเดือนข้างหน้า ทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดิ้นรนทำทุกๆวิถีทาง เพื่อทั้งผลักและทั้งดันให้ตนเองและคณะเข้าไปนั่งครองใจอเมริกันชน แต่สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์นั้น หากเขาสามารถทำการบ้านแก้โจทย์ 4 ข้อที่แสนยากที่สุดนั่นก็คือ 1. เขาสามารถจะฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกสะเก็ดและมีจำนวนของผู้ว่างงานมากถึง 13.3% ในครั้งนี้ให้หลุดพ้นไปได้หรือไม่? 2. สามารถจะแก้ไขปัญหาด้านความแตกแยกในสังคมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้หรือไม่? 3. ก่อนถึงวันเลือกตั้งเขาจะไม่สร้างวิกฤติต่อนานาประเทศได้หรือไม่? และ 4. ที่สำคัญที่สุดเขาจะต้องได้รับคะแนน Electoral Vote จำนวน 270 คะแนนจาก 538 เสียงและหากว่าเขาสามารถตอบโจทย์ทั้งสี่ข้อนี้ได้ โอกาสก็คงจะเป็นของเขา มิเช่นนั้นแล้วโจ ไบเดน ก็คงจะหยิบชิ้นปลามันได้รับชัยชนะเข้าไปนั่งในทำเนียบขาวแทนที่เขาละครับ