นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้จัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตและให้ส่วนราชการ หน่วยงาน อำเภอในพื้นที่ พิจารณาดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ใน 4 แนวทางหลัก ประกอบด้วย 1.แนวทางเตรียมการ โดยการประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินงานทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยในระดับอำเภอให้จัดทำแผนการดำเนินงานในพื้นที่ ได้แก่ การสำรวจผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต การมอบหมายงาน การซักซ้อมแผนการเผชิญเหตุการณ์ ซักซ้อมแผนฉุกเฉินประจำปี การนำส่งผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเข้าสู่การบำบัดรักษา การติดตามดูแลช่วยเหลือ และจัดทีมปฏิบัติการในพื้นที่ โดยผู้นำ แกนนำชุมชน ร่วมกับฝ่ายสาธารณสุขในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ หรือชุดปฏิบัติการประจำตำบล ร่วมวางแผนปฏิบัติการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการทั้งด้านการค้นหา เฝ้าระวัง การจัดการช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน ก่อความรุนแรง การนำส่งโรงพยาบาล ตลอดจนการติดตามดูแลช่วยเหลือต่อเนื่องในชุมชน 2.แนวทางการดำเนินงานระยะเฝ้าระวัง โดยทีมปฏิบัติการในพื้นที่ จัดทำแผนที่ชุมชน ปักหมุดจุดพิกัดแผนที่ “กลุ่มเสี่ยง” ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีประวัติการใช้ เสพยาเสพติดหรือมีพฤติกรรมใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีประวัติรักษาโรคทางจิตเวช, มีพฤติกรรม อารมณ์ หุนหันพลันแล่น ก้าวร้าวทั้งการแสดงคำพูด,มีประวัติทำร้ายตัวเอง ผู้อื่นหรือเคยขู่จะทำร้ายหรือจะฆ่าตัวตาย,เคยมีประวัติเอะอะ อาละวาด ทำลายทรัพย์สิน,เคยมีประวัติก่อคดีอาญา สำรวจข้อมูลผู้ป่วยผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต ให้ความรู้แก่ญาติหรือคนใกล้ชิดในการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับยาต่อเนื่อง เยี่ยมผู้ป่วยยาเสพติด สังเกต เฝ้าระวังผู้มีพฤติกรรม 3.แนวทางการดำเนินงานช่วยเผชิญเหตุและส่งต่อ ในกรณีพบผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตและอยู่ในภาวะคลุ้มคลัง ก่อความรุนแรง มีความเสี่ยงหรืออาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น โดยแจ้งขอความช่วยเหลือไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ (191) หรือสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ร่วมกันดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล และ 4.แนวทางการดำเนินงานในระยะติดตามดูแลต่อเนื่องในชุมชน ผู้ป่วยหลังบำบัดและส่งกลับชุมชน ให้มอบหมายผู้นำชุมชน ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอ อาสาสมัครสาธารสุขประจำหมู่บ้าน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ท้องถิ่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ติดตามดูแลช่วยเหลือตามสภาพปัญหาและความต้องการ เช่น ด้านสุขภาพอนามัย การศึกษาและด้านอาชีพ