ทางแก้ไขปัญหานี้อย่างถาวรก็คือ การยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคสช.ที่ 8/2560 โดยต้องอาศัยการตราเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่สภาผู้แทนราษฎรพึงต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้นำหนังสือร้องทุกข์ของหัวหน้าสำนักปลัดอบต.จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนหัวหน้าสำนักปลัดอบต.ทั่วประเทศ รวมทั้งผู้อำนวยการกองอีกหลายกองในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลหลายจังหวัด ยื่นเสนอต่อประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพัฒนา สัพโส ประธานคณะอนุกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้แทนรับมอบ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยได้รับการประสานจากพนักงานส่วนตำบลระดับผู้อำนวยการกอง ที่สอบผ่านการคัดเลือกสายงานผู้บริหารเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (นักบริหารงานท้องถิ่น) ระดับต้น โดยคณะอนุกรรมการสรรหาฯในคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) ที่มีนายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานคณะอนุกรรมการสรรหาฯ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่พวกตนได้ผ่านการคัดเลือกในตำแหน่ง รองปลัดอบต.เรียบร้อยแล้ว แต่ทางคณะอนุกรรมการสรรหาฯกลับมาแจ้งภายหลังว่า พวกตนขาดคุณสมบัติ ตามหนังสือซักซ้อมของสำนักงานเลขานุการก.อบต.เมื่อปี 2558 หรือ ว.58 ทั้งที่ พวกตนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและตามประกาศรับสมัครของคณะอนุกรรมการสรรหาฯซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนในเอกสารแบท้ายประกาศรับสมัครฯลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ทำให้กระทบกับสิทธิของพวกตนที่พึงจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ผ่านการสอบคัดเลือกมาอย่างยากลำบาก นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้อยากเรียกร้องให้ ก.อบต.โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล หรือ ก.อบต. ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสรรหาฯว่า เหตุใดจึงไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครให้ครบถ้วนในประกาศรับสมัครตั้งแต่ต้น หากเกิดความผิดพลาดจากคณะอนุกรรมการสรรหาฯจริง ก.อบต.ในฐานะองค์กรที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาฯขึ้นมา ต้องร่วมรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว โดยสามารถแก้ไขได้ 2 แนวทางคือ ทางที่หนึ่งให้ผู้ผ่านการสอบคัดเลือกได้รับการแต่งตั้งไปตามปกติตามลำดับที่สอบคัดเลือกได้จนครบถ้วน ทางที่สองหาก ก.อบต.เห็นว่า ผู้ที่สอบคัดเลือกผ่านในครั้งนี้ขาดคุณสมบัติตามหนังสือซักซ้อมเมื่อปี 2558ดังกล่าวจริง ควรจะใช้วิธีเยียวยาคือ ให้ผู้ผ่านการสอบคัดเลือกไปรักษาการในตำแหน่งที่แต่ละคนได้เลือกที่จะไปแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ และเมื่อคุณสมบัติของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกแต่ละรายครบถ้วนตามที่ก.อบต.กำหนดแล้ว จึงค่อยให้อบต.ต้นสังกัดรายงานต่อ ก.อบต.จังหวัดเพื่อขอความเห็นชอบแต่งตั้งต่อไป ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย “ในการดำเนินการของ ก.กลาง ไม่ว่าจะเป็น ก.อบต. หรือ ก.ท. หรือ ก.อบจ. เพื่อดำเนินการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกตำแหน่งสายงานผู้บริหารทั้งสองครั้งที่ผ่านมาคือ ปี 2560 และปี 2562 คาบเกี่ยวปี 2563 มีข้อบกพร่องเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตำแหน่งสายงานผู้บริหารเป็นตำแหน่งที่แตกต่างไปจากตำแหน่งสายปฏิบัติที่มีการสอบแข่งขันเข้ารับราชการครั้งแรก แต่การที่ ก.กลาง อาศัยอำนาจตามคำสั่งของหัวหน้าคสช.ที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 โดยอ้างการปฏิรูปด้านการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นนั้น เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย และเป็นการฉวยโอกาสดึงอำนาจที่แต่เดิมเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อต้องการควบคุมบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวได้พอๆ กัน ฉะนั้น ทางแก้ไขปัญหานี้อย่างถาวรก็คือ การยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคสช.ที่ 8/2560 โดยต้องอาศัยการตราเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่สภาผู้แทนราษฎรพึงต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพราะหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะมีผู้มาร้องต่อคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ และรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เรื่อยไป” นายพิพัฒน์ กล่าว +++++++++++++++++