กรมพัฒน์ฯเตรียมยกระดับมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีศักยภาพ และเข้มแข็ง ใช้วิกฤตโควิด-19 ช่วยสร้างโอกาส แนะผู้ประกอบธุรกิจปรับตัว วางแผนธุรกิจหลังโควิดเบาบาง สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดและกระตุ้น GDP ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้การใช้บริการสั่งสินค้าและอาหารผ่านแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มต่างๆแบบดีลิเวอรีมีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการร้านค้าทั่วไปต่างนำเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการร้านค้าเชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์สร้างฐานลูกค้าประจำ ขยายฐานลูกค้าใหม่ และเพิ่มยอดขายในระยะยาว ทั้งนี้มีสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันคือ การเชื่อมโลกออฟไลน์เข้ากับโลกออนไลน์อย่างลงตัว ผ่านระบบเดลิเวอรีที่จะช่วยสร้างผลกำไรให้ธุรกิจในระยะยาว และขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นธุรกิจแฟรนไชส์ที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก้าวทันโลกธุรกิจก็จะสามารถเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคได้อย่างไม่ยากด้วยเช่นกัน โดยธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นหนึ่งในโมเดลของรัฐบาลในการนำเอามาสร้างอาชีพให้กับประชาชนหลังวิกฤตโควิด-19 เพราะแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ลงทุนง่าย ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ปฏิบัติตามระบบที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนดเอาไว้ก็สามารถเปิดร้านขายได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาสร้างแบรนด์ ทำการตลาด เพราะเจ้าของแฟรนไชส์ หรือ “แฟรนไชส์ซอร์” ได้ออกแบบระบบที่มีมาตรฐาน และจัดทำคู่มือที่พร้อมให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามอย่างง่ายดาย สำหรับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้คัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 40 ราย ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ด้านการบ่มเพาะองค์ความรู้และทักษะการสร้างมาตรฐานธุรกิจ รวมถึงจะมีผู้เชี่ยวชาญประเมิน วิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละธุรกิจ ที่สำคัญยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการเป็นรายธุรกิจ และเสริมในเรื่องการศึกษาดูงานธุรกิจที่เป็นต้นแบบที่ดี “ที่ผ่านมามีธุรกิจเข้ารับการประเมินและผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินจากกรมฯ และจำนวนทั้งสิ้น 334 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจดังนี้ ธุรกิจอาหารจำนวน 157 ราย ธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 65 ราย ธุรกิจการศึกษา จำนวน 43 ราย ธุรกิจบริการจำนวน 36 ราย ธุรกิจความงามและสปาจำนวน 15 ราย และธุรกิจค้าปลีกจำนวน 18 ราย” โดยรูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เหมาะสำหรับลงทุนในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 คือ แฟรนไชส์ขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ใช้พนักงานจำนวนน้อย และสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแฟรนไชส์ในรูปแบบคีออส หรือซุ้มร้านค้าที่ใช้พื้นที่ไม่เยอะ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเว้นระยะห่างทางสังคม(Social distancing) ทำให้ผู้คนนิยมซื้อสินค้ากลับบ้านแทนการนั่งในร้าน นอกจากนี้ แฟรนไชส์ขนาดเล็กจะใช้พื้นที่ไม่มากทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่จะอยู่ในแหล่งชุมชน หรือตามตลาดนัดทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อของได้สะดวก