"ศบค."เผย"คลัง-ก.ท่องเที่ยว"ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจก"บัตรกำนัล-เงินเที่ยว" คนละ 3 พัน "ธ.ก.ส."แจ้งปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจ่ายเงินเยียวยางวด 2 ให้เกษตรกรกว่า 7.1 ล้านราย ตั้งแต่ 15 มิ.ย.นี้ โอนประมาณล้านรายต่อวัน คาดเสร็จใน 1 สัปดาห์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.63 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19 ) หรือศบค. แถลงว่า นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 เนื่องจากรัฐบาลได้มีมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงเดือนก.ค. โดยจะมีมาตรการเช่น บัตรกำนัล การเสนอให้แจกเงินคนละ 3,000 บาท เพื่อท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยมาตรการที่ออกมาจะต้องให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเช่น โรงแรม และร้านอาหาร เข้าร่วมจัดโปรโมชันลดราคาต่างๆ เพื่อสนับสนุนมาตรการภาครัฐและจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจท่องเที่ยว เช่น การลดราคาเพื่อให้คนเข้าใช้บริการมากขึ้น ด้าน นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมโอนเงินเยียวยางวดที่ 2 ของเดือนมิ.ย.63 ให้เกษตรกร 711,582 ราย ที่รับเงินงวดที่ 1 ของเดือนพ.ค.63 เรียบร้อยแล้ว โดยเงินจะเข้าบัญชีตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.63 ซึ่งโอนได้วันละประมาณ 1 ล้านราย คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นใน 1 สัปดาห์ สำหรับวันที่ 9 มิ.ย. เกษตรกรที่แจ้งหมายเลขบัญชีธนาคารอื่นจะรับเงินเยียวยางวดแรกช่วงบ่ายเป็นต้นไป รวม 24,342 ราย เป็นเงิน 21.70 ล้านบาท ล่าสุดนำรายชื่อผู้ที่ไม่พบบัญชี 181,369 ราย ส่งให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯแล้ว ซึ่งจะให้หน่วยงานรับขึ้นทะเบียนระดับภูมิภาคติดตามถึงบ้าน ขณะที่ธ.ก.ส.ประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง รวมทั้งประสานผู้นำชุมชนเพื่อบอกเกษตรกรให้แจ้งหมายเลขบัญชีที่ www.เยียวยาเกษตรกร.com ขณะที่ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้รวบรวมจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ได้ 186,945 ราย แต่ยังมีรายชื่อที่อยู่ระหว่างนำข้อมูลการอุทธรณ์เข้าระบบเพิ่มเติมอีก พร้อมเร่งรัดหน่วยงานขึ้นทะเบียนระดับภูมิภาคและระดับกรมให้กลั่นกรองข้ออุทธรณ์ของเกษตรกรออกเป็นกลุ่มตามลักษณะของปัญหาเช่น กลุ่มที่มีชื่อในฐานทะเบียนประกันสังคม ถูกเลิกจ้างยื่นอุทธณ์ว่า ไม่ได้รับเงินชดเชยประกันสังคมตามมาตรา 33 หากตรวจสอบว่าเป็นจริงจะพิจารณาให้เงินเยียวยาเกษตรกร หรือผู้ที่สละสิทธิ์จากโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ประสงค์จะรับเงินเยียวยาเกษตรกร ขณะที่กระทรวงเกษตรฯตรวจสอบรายชื่อยังอยู่ในโครงการเราไม่ทิ้งกันจะถือเป็นรายชื่อตกหล่นได้รับสิทธิ์ด้วย ทั้งนี้ต้องเป็นผู้มีทะเบียนเกษตรกรและทำเกษตรกรรมจริงด้วย ที่ตึกสันตไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการใช้ง่ายงบประมาณในการแก้ปัญหาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตาม พรก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน โดยให้กระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 400,000 ล้านบาท ว่า วันนี้ยินดี ที่ได้พบกับพวกเราอีกครั้ง ซึ่งเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ สิ่งที่หลายคนห่วงกังวล คือเรื่องงบฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท ทุกคนจับตาดูตรงนี้อยู่ ตนยืนยันในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะดำเนินการให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ ซึ่งตนได้กำชับไปกับ คณะรัฐมนตรีแล้ว ว่า งบประมาณจำนวนนี้ มีความสำคัญในการที่จะสานต่อ เศราฐกิจของเราในไตรมาส 4 คือเดือน ก.ค. ถึง ก.ย. เพื่อส่งต่อไปยัง ไตรมาส 1 ของงบประมาณปี 2564 ทีกำลังจะเข้าสู่การพิจารณา สภาผู้แทนในลำดับต่อไป เงินจำนวนนี้ จะเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยว้องไปพิจารณาดำเนินการ เราจะตั้งกรอบ วงเงิน 400,000 ล้านบาทนี้ จะใช้ในกิจการอะไรบ้าง ซึ่งการฟื้นฟูจะต้อง มีขั้นตอนในการดำเนินการ สิ่งสำคัญต้องตรงความต้องการของประชาชน กลุ่มผู้เดือดร้อน มากบ้างน้อยบ้างตามเหตุผลความจำเป็น ซึ่งคาดว่าจะสามาถดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. เป็นต้นไป และช่วงนี้เป็นช่วงของการเตรียมการ นายกฯ กล่าวต่อว่า หลักการสำคัญ เน้นกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยว เพื่อให้กลไกตลาดสามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้สมีสภาพคล่องในการเดินหน้าธุรกิจ ช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน การรักษาระดับากรจ้างงาน และการช่วยเหลือบัณฑิตจบใหม่ให้มีงานทำ อันนี้ถือเป็นหลักการสำคัญ ซึ่งต้องดูกันอีกที ขณะนี้ คณะกรรมการกำลังพิจารณากันอยู่ว่ากรอบเงิน 400,000 ล้านบาทจะแบ่งเป็นกลุ่มใดบ้าง และตนได้ให้แนวทางไปว่า เราจะอนุมัติ เป็นระยะ ระยะไป ไม่ใช่อนุมัติทีเดียวทั้งหมดเพื่อ ที่จะมีการประเมิน ปรับแผน ซึ่งอาจจะทำเป็น 2 หรือ 3 ระยะ ใน 3 เดือน เพื่อให้เงินสามรรถหมุนเวียนส่งต่อไป ยังเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแม้จริง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลักการสำคัญอีกอันคือ การใช้งบฟื้นฟูดังกล่าว ไม่ควรนำไปใช้ในโรงการที่เป็นการลงทุน หรือการพัฒนาภายใต้งบปกติ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว และอยู่ในแผนงานงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว เพราะ อันนี้เป็นเงินที่ได้มาด้วยความยากลำบาก คือต้องกู้เข้ามา แต่ในส่วนงบประมาณก็ถือเป็นอีกส่วนหนึ่ง วันนี้ต้องเดินหน้าทั้งการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563 และ 2564 สำหรับงบฟื้นฟู เป้นวส่วนที่จะทำให้เกิดสภาพคล่อง ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อน หรือกิจการต้องล้มละลาย ล้มเลิกไป เพราะจะทำให้เกิดปัญหาการจ้างงาน วันนี้ เราพยายามทำทุกมิติ ในส่วนแรกคือการใช้มาตรการทางการเงิน การคลัง การลดภาษี ลดค่าใช้จ่าย การยืดระยะเวลา อะไรทำนองนี้ ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว และอีกเรื่องคือการใช้งบประมาณลงไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม เมื่อถามว่า โครงการหรือกิจกรรมเยียวยาที่จะเกิดภายใต้งบประมาณ 400,000 ล้านบาท จะมีแนวทางให้ภาคประชาชน จังหวัดต่างๆหรือภาคต่างๆ เสนอ โครงการหรือกิจกรรมมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ข้างล่างจะทำโครงการถือรัฐบาลไม่ได้หรอก ซึ่งต้องผ่านกลไก คณะกรรมการบริหารในส่วนของังหวัดขึ้นมา มีขั้นตอนการมีส่วนรร่วมของประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว จากกำนันผู้ใหญ่บ้าน มาถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าคณะกรรมการจังหวัด เสนอมาถึงคณะกรรมการคัดกรองข้างบน ซึ่งจะมีอนุกรรมการ คณะกรรมการคัดกรองแล้วเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติงบประมาณต่อไป ซึ่งวันนี้มีระบบการให้ข้อมูล ว่าโครงการที่จะใช้งบประมาณฟื้นฟูดังกล่าวอยู่ที่ใดบ้าง ทุกคนสามารรถเข้ามาเปิดดูได้ว่า ทำได้จริงหรือไม่ และทำได้ดีหรือเปล่า ถ้าไม่ดีก็ต้องหามาตรการลงโทษ เมื่อถามว่า ได้ตั้งเงื่อนเวลาหรือไม่ สำหรับโครงการที่จะเกิดภายใต้งบ 400,000 ล้านบาท จะต้องส่งเข้ามาภายในระยะเวลาเท่าไร นายกฯ กล่าวว่า ทำกอย่างจะเริ่มเป็นรูปร่างและสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. อย่าให้มันยืดไปเรื่อยและจะไม่ทันเวลา จึงตั้งไว้ว่าต้นเดือน ก.ค. ต้องทยอยเสนองวดที่ 1 ของแต่ละกิจกรรมเข้ามา ทุกคนต้องปฏิบัติตามนี้ "ขอให้มั่นใจว่า ในกรอบนโยบายนายกรัฐมนตรี ผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ผมป้องกันการทุจริตอย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้โดยทันที ทั้งการตรวจสอบภายในและภายนอก องค์กรอิสระสามารถตรวจสอบได้โดยทันที ฉะนั้น ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ให้มันกลับมาที่เก่า ไม่อย่างนั้นต้องหาวิธีการและแนวทางการปฏิบัติที่ดี ข้อสำคัญคือประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดย ให้ประชาชนเสนอความต้องการ ขึ้นมา และส่วนราชการต้องไปพิจารณา ร่วม เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ไม่เช่นนั้น ถ้าทำออกมาไม่ตรงก็จะกลายเป็นปัญหา และทำให้ตรวจสอบยาก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว