ย้ำยึดความโปร่งใส สอบกว่า 8 เดือน ทั้งพยานบุคคล พยานหลักฐาน พร้อมลงพื้นที่ ไม่มีกลั่นแกล้ง ระบุยังให้ชี้แจงโต้แย้งได้ พร้อมสอบ "หมอเกรียงศักดิ์" หากมีข้อมูลเกี่ยวพันช่วงเป็น ผอ.รพ. ขณะมีเผยข้อมูลเรียกรับเงินบริษัทยา แม้จะมีกฎหมายป.ป.ช.กลับยังเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงกรณีการสอบสวนวินัยร้ายแรงและสั่งย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น จากบัตรสนเท่ห์ปมเรียกรับเงินบริษัทยาเข้ากองทุนพัฒนา รพ. ว่า ไม่ได้ย้ายเพราะบัตรสนเท่ห์ใบเดียวทันที แต่ย้ายเพราะมีการตรวจสอบทางวินัยแล้วพบว่า มีมูล ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณารายละเอียดบัตรสนเท่ห์และหลักฐาน ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ แล้วจึงตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มี นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 6 เป็นประธาน แต่ยังไม่ได้ระบุว่ามีการกระทำผิด โดยใช้เวลาตรวจสอบ 8 เดือน นพ.สุขุมกล่าวว่า ส่วนกรณี นพ.ชาญชัย ยื่นอุทธรณ์กรณีถูกย้ายออกจากพื้นที่เพราะมีการข่มขู่พยานนั้น ใครไปบอกว่าข่มขู่ ในคำสั่งไม่ได้เขียนว่าข่มขู่ ส่วนที่มีการเผยแพร่เอกสารต่างๆ ตนไม่ได้เผยแพร่ เพราะทำไม่ได้ เช่นเดียวกับกรณีการระบุว่า ฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็เป็นเพียงคำกล่าวหา สธ.ยังไม่ได้บอกว่า นพ.ชาญชัยฉ้อราษฎร์บังหลวง เมื่อถามว่าต้องมีการสอบ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทรบุรี ด้วยหรือไม่ เนื่องจากเคยเข้าไปเป็น ผอ.รพ.ขอนแก่น ระยะหนึ่ง  นพ.สุขุม กล่าวว่า หากมีความเกี่ยวพันกับใคร ก็ต้องเรียกมาสอบทั้งหมด เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า การเข้าไปตรวจสอบมีคณะกรรมการทั้งหมด 5 คน โดยมีการเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร เรียกหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล รวมถึงลงไปสอบข้อมูลที่ รพ.ขอนแก่นตามเส้นทางของหลักฐานและบุคคลที่กล่าวถึง โดยเรื่องที่เป็นการรับเงินที่เป็นผลประโยชน์จากบริษัทมีมูลอันควรกล่าวหาที่ผิดวินัย ทั้งพยานบุคคลและเอกสาร คณะกรรมการจึงได้สรุปเสนอผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับ ไม่ได้มีการกลั่นแกล้ง ทำงานด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการอย่างตรงไปตรงมา และทำตามกฎระเบียบของราชการ ส่วนสาเหตุที่มีชื่อนพ.ชาญชัย เนื่องจากเป็นผู้นำผู้บริหารองค์กร และในฐานะชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในหลักฐาน ก็ทำให้มีมูลถึง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยว่าเป็นหลักฐานตัวไหน พร้อมกันนี้ ยังได้เชิญนายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระที่เคยทำงานกับบริษัทยาและโรงพยาบาล ระบุว่า พบว่า หลังจากมีระเบียบเรื่องห้ามรับเงินบริจาค 5% ที่เชื่อมโยงเป็นการเรียกเก็บเงินนั้น ในช่วง มี.ค.62 มีการเรียกรับเงินลดลง จากการสำรวจโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัด 786 แห่ง พบรับเงินรวม 12 แห่ง ไม่รับเงิน 774 แห่ง ต่อมา พ.ย.62 พบมีการเรียกรับเงินเพิ่มขึ้น รวม 186 แห่ง ซึ่งน่าจะมาจากการเปลี่ยน ผอ.รพ.ใหม่ หรืออาจจะเป็นเพราะละเลยกฎระเบียบหรือไม่ ซึ่งแม้ระบบจัดซื้อจัดจ้างเข้มงวดขึ้น แต่จะมีการคุยกับบริษัทยาว่า จะจ่าย 5% ได้หรือไม่ ซึ่งบริษัทยาไม่อยากทำ เพราะกฎหมายป.ป.ช.ระบุการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท ซึ่งปลัดสธ. กล่าวว่า พร้อมจะตรวจสอบว่ามีที่ใดบ้าง