อพท. และภาคีเครือข่าย เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ให้มีคุณภาพและยั่งยืน มีการจัดการด้านความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ภายใต้มาตรฐานด้านการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ ด้านการเพิ่มผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน เจ้าของสถานที่ นักท่องเที่ยว วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ในปี 2564 โดยจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ และความเข้าใจการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO และประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วม ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ให้โตอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดน่าน ที่ว่า "เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ การเกษตรมั่งคั่งชุมชนเข้มแข็ง ท่องเที่ยวยั่งยืน" โดยมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. หัวหน้าส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม ที่ ห้องประชุม 401 ชั้น 4 อาคารวิชชาคาม 1 ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง การยกระดับเมืองน่าน สู่มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามหลักเกณฑ์ 41 ด้าน ของ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ( Global Sustainable Tourism Criteria) หรือ GSTC พร้อมเปิดโรดแมพ เป้าหมายความสำเร็จ น่านเมืองเก่าที่มีชีวิตอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ปี 2563-2570 มุ่งหวังได้รับการรับรองจาก Green Destinations หรือ GD ซึ่งเป็นองค์กรมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับโลก และยังมีผลต่อการตลาดการท่องเที่ยวนานาชาติ โดยปี 2563-2564 ได้คัดเลือกพื้นที่พิเศษตำบลในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ที่มีศักยภาพเพื่อสมัครเข้าสู่รางวัล Sustainable Destinations Top 100 รางวัลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และอีกเป้าหมาย คือการได้สถานะสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรม และ ศิลปะพื้นบ้าน ของยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งปัจจุบันมี 246 เมือง จาก 84 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ และประเทศไทย มี 4 จังหวัด ที่ได้เป็นสมาชิกแล้ว คือ จังหวัดภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร จังหวัดเชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน จังหวัดกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ และ จังหวัดสุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ส่วนการขับเคลื่อนในปี 2565-2570 มุ่งหวังรางวัล Green Destinations Standard ของ GD ที่จะมีการรับรองมาตรฐาน โดยแบ่งเป็นระดับต่างๆ ได้แก่ รางวัลระดับทองแดง ระดับเงิน ระดับทอง และ รางวัลสูงสุดคือระดับแพลตตินั่ม ซึ่งหากสามารถคว้ารางวัลและได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่น่าเชื่อถือในระดับนานาชาติแล้ว ประโยชน์ที่จะได้รับ อาทิเช่น ข้อเสนอแนะและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การยอมรับจากนานาประเทศ ภาพลักษณ์ การรับรู้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การเป็นแหล่งศึกษาดูงาน มีการเผยแพร่เรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยวในเวทีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเติบโตในตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลกและภาพลักษณ์ของจังหวัดและของประเทศไทยด้วย รองผู้อำนวยการ อพท. ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับพื้นที่พิเศษตำบลในเวียง อ.เมืองน่าน มีผลการประเมินโดยคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยใช้หลักเกณฑ์ 41 ด้าน ของ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ( Global Sustainable Tourism Criteria) หรือ GSTC พบว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ซึ่งมีผลประเมินอยู่ในระดับที่มีผลสัมฤทธิ์ของการนำไปปฏิบัติตามเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ระดับสีเขียว จำนวน 10 ด้าน อยู่ในระดับที่มีมาตรการและการนำไปปฏิบัติในกลุ่มเป้าหมาย คือเกณฑ์ระดับสีเหลือง จำนวน 22 ด้าน และ อยู่ในระดับที่มีมาตรการและกิจกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกณฑ์ระดับสีชมพู จำนวน 9 ด้าน โดยไม่มีด้านใดเลยที่อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูงและต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน หรืออยู่ในเกณฑ์ระดับสีแดง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอื่นแล้ว พื้นที่ตำบลในเวียง อ.เมืองน่าน มีผลการประเมินอยู่ในระดับสีเขียวและสีเหลืองมากที่สุด และมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่จะสามารถเข้าสู่ Sustainable Destinations Top 100 ซึ่งเป็นรางวัลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลก ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือและศักยภาพทั้งหมดนี้ จะทำให้จังหวัดน่านสามารถยกระดับเป็นสถานะสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรม และ ศิลปะพื้นบ้าน ของยูเนสโก (UNESCO) ได้