เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: 9 มิถุนายน เป็นวันอานันทมหิดล วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 กล่าวช่วงระยะเวลาพระองค์ทรงครองราชย์ 12 ปี ประกอบพระราชกรณียกิจ ในด้านการปกครอง เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2489 การศาสนา ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ กลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรต่างจังหวัด และเสด็จสำเพ็ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2489 ซึ่งการเสด็จในครั้งนี้ เป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนให้หมดไป ด้านการศึกษา พระองค์เสด็จทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้งเสด็จฯ เยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์ และเสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2489 และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบันคือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันอานันทมหิดล หน่วยงานต่างๆ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ การจัดทำเข็มกลัดที่ระลึก และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เกี่ยวกับมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้น ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในสวัสดิภาพ และความเป็นอยู่ของพสกนิกร ทรงตระหนักว่าราชอาณาจักรต้องมีผู้เชี่ยวชาญในวิชาการชั้นสูง จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่ไผ่ใจในการศึกษา ที่ได้แสดงความสามารถอย่างยอดเยี่ยมให้ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาการชั้นสูงบางวิชา ณ ต่างประเทศ โดยทรงหวังในพระราชหฤทัยว่า เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว จะได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาการที่ศึกษามา ด้วยพระราชดำริตามนัยที่กล่าวนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองดำเนินการไปก่อนด้วย “ทุนอานันทมหิดล” เมื่อ พ.ศ. 2498 ต่อมา เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 รัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้เปลี่ยนสภาพจาก “ทุน” เป็น “มูลนิธิ” ชื่อว่า มูลนิธิอานันทมหิดล โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรก 20,000 บาท เป็นการจัดตั้งมูลนิธิฯ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้พระราชทานแก่พระองค์ตลอดมา อนึ่ง โดยที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ เพื่อทรงนำวิชาการนั้นกลับมาทำประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ อีกทั้งได้ทรงจัดและพระราชทานทุนแก่นักศึกษาแพทย์ ให้ได้ศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ กอปรกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงสนพระราชหฤทัยส่งเสริมกิจการแพทย์ของไทย และได้พระราชทานพระราชปรารภในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร และอนุปริญญาบัตรแก่ผู้จบหลักสูตรแพทย์พยาบาล ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2489 ว่าต้องพระราชประสงค์ให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน อันเป็นผลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ขึ้น ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดังนั้น เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “ทุนอานันทมหิดล” ขึ้นแล้ว ก็ได้พระราชทานทุนแก่นักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์เป็นประเดิม และต่อมาได้เพิ่มสาขาวิชาอื่นๆ ขึ้นอีก หมายเหตุ: ที่มา มูลนิธิอานันทมหิดล, ประวัติรัชกาลที่ 8 และภาพ วิกิพีเดีย, เรียบเรียง