"บิ๊กตู่" โชว์สื่อคุย "อุตตม" สยบข่าวพปชร.ร้าว หลังไร้คำตอบปมข่าวลือเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกชุด "สมคิด" ขอทุกฝ่ายหยุดเรื่องการเมือง พร้อมเดินหน้าเศรษฐกิจ เอือม "คนดี อยู่ไม่ได้" บอก ยินดีต้อนรับคนดีร่วมงานด้านศก. ด้าน"บิ๊กป้อม"ยิ้มรับ หลังถูกถามเตรียมนั่ง หน.พปชร. ขณะที่ "ฝ่ายค้าน" บุกร้องผู้ตรวจฯฟัน" 90 สว."ส่อขาดคุณสมบัติ ชี้เคยเป็น สนช.เข้าข่ายขัดรธน. ส่วน "พรเพชร" ชะลอทูลเกล้าฯ "สุชาติ" นั่งตำแหน่งปปช. ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)ครั้งที่ 3/2563โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรัฐ มนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง ทั้งนี้ ก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้ทักทายสื่อมวลชน แต่ปฎิเสธที่จะตอบคำถามว่าจะมีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจทั้งหมดตามกระแสข่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยและหารือกับนายอุตตมด้วยท่าทีปกติ ประมาณ 3 นาที ก่อนจะเดินกลับขึ้นไปยังห้องบนห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมหันมาส่งยิ้มและโบกมือให้กับสื่อมวลชน ส่วนนายสมคิดที่เดินออกมาพร้อมกันได้เดินกลับมายังตึกบัญชาการ 1 โดยไม่ได้ยืนพูดคุยกับนายกฯ ต่อมา นายสมคิด ให้สัมภาษณ์ ถึงกระแสข่าวความวุ่นวายภายในพรรค พปชร. ที่กดดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ช่วงนี้พวกเราทุกคนไม่ว่าใครทั้งนั้นต้องร่วมใจช่วยกันดูแลให้การเมืองดีให้บรรยากาศการเมืองไทยดี เพราะเรื่องการเมืองถือว่าสำคัญมากและเป็นหน้าที่ของทุกคน ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจก็จะดีตาม สังคมก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้าบรรยากาศการเมืองไม่ดี งานก็เดินไม่ได้ จึงต้องช่วยกัน "ข่าวอะไรก็แล้วแต่ไม่ว่าใครจะพูดอะไร จริงเท็จหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าเราเสนอให้น้อยหน่อย ไม่เสนอในสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์มันก็จะช่วยการเมืองได้ไม่ใช่หรือ คนดีๆ เราต้องการให้เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ให้เขาเข้ามาช่วยทำงานการเมืองใช่หรือไม่ เราเห็นตั้งแต่วันแรกแล้วรัฐมนตรี อย่างเช่น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คนดี คนเก่ง ซื่อสัตย์ สุจริต เขาก็อยู่การเมืองไม่ได้ แล้วถ้าคนดีทยอยออกไปทีละคนๆ ใครจะทำงานให้ ใช่ไหม พวกเขาไม่ได้เดือดร้อน คนอื่นต่างหากที่จะเดือดร้อน ดังนั้นช่วยกันนะครับ ผมมองว่าทุกฝ่ายก็รู้จักกันทั้งนั้น ข่าวอะไรก็อย่าไปพูด อย่าไปถาม หยุดได้แล้ว คนดีมีเยอะในเมืองไทย และหากอยากให้เขาเข้ามา ถ้าเข้ามาได้ก็เชิญเข้ามาเลย คนที่อายุมากแล้วจะได้ถอยไป" เมื่อถามว่า ข่าวที่เกิดขึ้นมาจากบรรดานักการเมืองทั้งนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ก็ไปถามคนที่พูด ไม่ต้องมาถามตน ข่าวดีๆ ทำไมไม่ติดตามกัน เมื่อถามว่า ที่บอกว่าคนดี มักอยู่ไม่ได้ นั้น นายกฯ คิดเหมือนที่ท่านคิดหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า "อ้าว ก็นายกฯ เป็นคนดีใช่หรือไม่ ท่านก็ต้องคิดเหมือนกัน และการปรับ ครม. ก็อยู่ที่ท่าน" ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าช่วงนี้หลายคนเล่นการเมืองมากเกินไป มากกว่าทำงานใช่หรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า "ผมไม่ได้ว่าอย่างนั้น แต่ผมบอกว่า อยากให้ทุกคนเอาใจใส่ ตั้งใจ และพูดคุยในสิ่งที่ช่วยบ้านเมือง" เมื่อถามว่ามองใครไว้บ้างที่จะให้มาช่วยงานด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด กล่าวว่า "คนดีๆ มาได้ทั้งนั้น เวลคัมๆ" ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ปฏิเสธตอบคำถามถึงกรณีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร.และการเตรียมตัวเป็นหัวหน้าพรรค โดยพล.อ.ประวิตร เพียงแต่ยิ้มรับก่อนเดินขึ้นรถกลับออกไปทันที ส่วน นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร. ในฐานะรักษาการนายทะเบียนพรรค กล่าวถึงการเตรียมประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ว่า อยู่ระหว่างการเตรียมการ ซึ่งการประชุม ใหญ่ประจำปีมีเงื่อนไขว่า จะต้องรายงานการดำเนินกิจการและต้องใช้องค์ประชุมอย่างน้อย 250 คน ขณะที่สมาชิก พรรคมีกว่า 45,000 คน จึงต้องมีการเชิญตัวแทนมาประชุม อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม แต่ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบ 45 วัน ตามข้อบังคับพรรค ส่วนที่มีข้อกังวลว่าอาจจะมีการระดมสมาชิกมาโหวตกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากสมาชิกทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง เท่ากัน เช่นเดียวกับกรรมการบริหารและส.ส.นั้น เชื่อว่า ส.ส.พรรคมีวิจารณญาณ และคงไม่ทำอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหาย วันเดียวกัน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ โฆษกพรรคเสรีรวมไทย พร้อมด้วย นายทรรศนัย ทีน้ำคำ นักกฎหมายและทนายความ ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของวุฒิสภาทั้ง 90 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข.(1) (3)และ (9) หรือไม่ โดยยื่นผ่าน นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียน นายปิติพงศ์ กล่าวว่า การที่สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2562 ซึ่งพบว่ามีส.ว. จำนวน 90 คน เป็นอดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 6 และยังทำหน้าที่ ส.ส.และส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ระบุว่า ส.ว.จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 98 (17) หรือเคยเป็นส.ส.เว้นแต่พ้นจากการเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่งส.ว. ซึ่ง ส.ว.ทั้ง 90 คนนี้ เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสนช. จึงถือว่าขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม เมื่อถามว่า กรณีนี้ถ้าหาก ส.ว.โต้แย้งว่าอาจเป็นความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญจะได้หรือไม่ นายปิติพงศ์ กล่าวว่า ไม่ได้แน่นอน เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่คุณได้ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วก็ถูกต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และที่สำคัญคือสนช.เหล่านี้ที่เป็น ส.ว.นั้นมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งตอนนี้ป.ป.ช.ก็ได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าสนช.ถือเป็นสมาชิกวุฒิสภามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ฉะนั้นแล้วเมื่อป.ป.ช.รับลูกเช่นนี้แล้วแปลว่าสมาชิกเหล่านี้จะขาดคุณสมบัติเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการยื่นของนายปิติพงศ์ เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาในครั้งนี้ได้ยื่นรายชื่อส.ว.จำนวน 90 คน ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม เช่น นายพรเพชร วิชิตชลไชย ,พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ,พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ,นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ,นายสมชาย แสวงการ, พล.อ.อู้ด เบื้องบน ,นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์, นายกล้านรงค์ จันทิก นอกจากนี้ยังมีนายทหาร และนายตำรวจอีกหลายคนด้วย ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ชี้แจงกรณีวุฒิสภามีมติเห็นชอบ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ทั้งที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ไม่ถึง 10 ปี ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคห้า เขียนไว้ชัดว่า "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด" ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาก็ทราบว่านายสุชาติเป็น สนช. มาก่อน แต่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้อำนาจวุฒิสภาลบล้างคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญได้ จึงไม่ใช่ประเด็นที่วุฒิสภาจะต้องวินิจฉัย และดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่เมื่อมีประเด็นทักท้วง จึงให้ชะลอการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ในระหว่างที่ยังไม่มีคำชี้แจงจากคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. และคณะกรรมการสรรหา กสม. ซึ่งเคยมีมติตัดชื่อ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และนางสาวจินตนันท์ ชญาต์รศุภมิตร ซึ่งเคยเป็นอดีต สนช. มาแล้ว นายพรเพชร กล่าวย้ำว่า ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงจำเป็นต้องขยายเวลาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน แต่ยืนยันว่าวุฒิสภาจำเป็นต้องลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคห้า ซึ่งก็เหมือนกับมัดมือชก และอ้างคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ที่มีคำวินิจฉัยแล้ว แต่เมื่อมีข้อทักท้วงก็ต้องรอความชัดเจน ซึ่งขณะนี้ต้องดูช่องทาง ว่าจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้หรือไม่