สถานการณ์น้ำของประเทศไทยเวลานี้ อาจเรียกได้ว่าไม่ต่างไปจากการยืนอยู่บน “ปัญหาซ้อนปัญหา” เพราะแม้เวลานี้จะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการไปแล้ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าในราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคมจะเกิดพายุโซนร้อนประมาณ 1-2 ลูกพัดเข้ามาในประเทศไทย จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำอันมหาศาลดังกล่าว ประเทศยังต้องพยายามหาทางบริหารจัดการ “น้ำต้นทุน” ที่ส่อเค้าว่าจะขาดแคลนอย่างหนักไปพร้อมๆ กัน “เวลานี้เรามีน้ำต้นทุนเหลืออยู่ในมือน้อยมาก” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เริ่มต้นอธิบาย โดยชี้ว่า จากการเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีน้ำในแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ ไม่มากนัก เช่นเดียวกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศที่มีเหลืออยู่รวมกันประมาณ 34,878 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่เป็น “น้ำต้นทุน” ที่นำมาใช้ได้จริงเพียง 10,819 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูฝน 2563 และต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2563/2564 ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในเขตชลประทานมากถึง 31,352 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ถึงเกือบ 20,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเกินกว่า 1 เท่าตัว!!! ขณะที่เมื่อหันไปดูการเกิดฝนในช่วงที่ผ่านมา แม้จะพบว่ามีฝนกระจายในหลายพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่กลับไปตกที่บริเวณท้ายเขื่อน ทำให้แทบไม่มีน้ำไหลเข้าไปเติมในเขื่อน ซึ่งจากการติดตามปริมาณฝนตั้งแต่วันเริ่มต้นฤดู คือ วันที่ 18 พฤษภาคม 2653 พบว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าไปยังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมกันประมาณ 613 ล้าน ลบ.ม เท่านั้น นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% ซึ่งแม้ว่าจะยังคงมีปริมาณฝนมากกว่าปี 2562 แต่ก็เป็นภาวะที่เสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่คาดว่าปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง มีโอกาสเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน จากนั้นช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม สถานการณ์น้ำจึงจะพลิกกลับไปสู่ภาวะฝนตกชุกและเกิดพายุโซนร้อน 1-2 ลูกพัดผ่านเข้ามา โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่อาจเกิดน้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน สกลนคร หนองคาย นครราชสีมา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ตราด ระนอง ชุมพร พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เป็นต้น “ดังนั้นโจทย์สำคัญของเรา ก็คือ การทำทุกวิถีทางเพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูฝน 2563 และต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งครั้งใหม่ในช่วงปลายปีนี้และไปถึงฤดูฝน 2564 อีก 2-3 เดือนให้ได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง จนไปสร้างอีกปัญหาให้กับประชาชน” ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า มาตรการสำคัญที่ กอนช. นำมาใช้ คือ 1.การเร่งสูบน้ำเพื่อต้อนน้ำจากแม่น้ำ/ลำคลองไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มน้ำต้นทุนสำรองไว้สู้กับภัยแล้งฤดูกาลหน้าแล้ว ยังเป็นการซับน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้เพิ่มขึ้น และ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ ภายใต้โครงการต่อเนื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งฤดูกาลที่ผ่านมา 2 โครงการ คือ โครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 1,626 แห่ง เพื่อป้องกันบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบเป็นวงกว้าง ในพื้นที่เฝ้าระวัง 44 จังหวัด ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วกว่า 1,400 แห่ง สามารถเพิ่มน้ำบาดาล 43.53 ล้าน ลบ.ม./ปี รับประโยชน์ 189,918 ครัวเรือน น้ำดิบผลิตประปา 61.54 ล้าน ลบ.ม./ปี ผู้ใช้น้ำประปา 183,192 ราย มีน้ำสำรองประปา 0.70 ล้าน ลบ.ม และ โครงการเร่งด่วนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 และ โครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 (เพิ่มเติม) มุ่งพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กทั้งการฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมและก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่จำนวน 6,806 แห่งทั่วประเทศ โดยขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 300 แห่ง ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 57 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 229,380 ไร่ นอกจากนี้ กอนช. ยังได้วางมาตรการเชื่อมโยงกับการเก็บกักน้ำอื่น ๆ อาทิ การสร้างฝายและแก้มลิงในพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำ เช่นเดียวกับทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมและแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาว, โครงการขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชและผักตบชวา, การติดตั้งสถานีโทรมาตรในพื้นที่วิกฤต และการเชื่อมระบบคาดการณ์น้ำสถานีหลักแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เป็นต้น “แม้สถานการณ์น้ำในเวลานี้จะอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ถึงกับต้องตื่นตระหนก โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม เพราะ กอนช. ได้สถานการณ์การเกิดพายุในประเทศไทยเมื่อปี 2538 มาเป็นโมเดลวางแผนบริหารจัดการน้ำและกำหนดพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุเพื่อดำเนินการป้องกัน นอกจากนี้เขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ ของเรายังรับน้ำได้อีกมาก รวมทั้งไม่มีสัญญาณจากปรากฏการณ์ลานินญา เอนินโญ่ ที่บ่งชี้ว่าจะเกิดสถานการณ์พลิกขั้วจากแล้งจัดไปเป็นน้ำท่วมหนัก จึงขอให้ประชาชนทุกคนเบาใจ” ดร.สมเกียรติ กล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า ปัญหาการบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาที่จะหวังพึ่งพาหน่วยงานรัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องอาศัยกลไกสำคัญ คือ ความร่วมมือจากประชาชน เช่น การช่วยกันบำรุงรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ การเก็บกักน้ำในภาชนะ การขุดสระในไร่นา หรือแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่ของตัวเองหรือในชุมชน ยิ่งหากทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันมากเท่าไร ความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งก็จะน้อยลงมากเท่านั้น ชุมชนต้องช่วยกัน วิกฤติต่างๆ จึงจะผ่านพ้นไปได้