จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาจากสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงนำเทคนิคการทำธุรกิจที่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยมาปรับใช้เข้าสู่ e-commerce platform หลักทุกช่องทางในประเทศไทย สองสาวเยาวชนคนรุ่นใหม่จากรั้วแดนปาล์ม มหาวิทยาลัยดังย่านบางบัว สามารถสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิดพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ช่วงCOVID-19 คือ “น้องจ๋า” น.ส.ไหมไทย ชัยประโคน และ “น้องลิลลี่” น.ส.ชวลัน อรรถสุวรรณ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ชั้นปีที่ 2 และปีที่ 3 (ซ้าย) ไหมไทย- (ขวา) ชวลัน น้องจ๋า หรือน.ส.ไหมไทย เล่าว่า เป็นเจ้าของแบรนด์ HELAN กระเป๋าจักสาน สไตล์เรียบหรู โดยมีทีมที่ร่วมสร้างธุรกิจมาด้วยกัน คือ ทีม Phenomenal ประกอบด้วย น.ส.หนึ่งหทัย สุพิพัฒน์ประเสริฐ ,น.ส.ศิริลักษณ์ เกตุจันทร์ และนายธนภัทร วีระพรจิจิต โดยมี ดร.อนุพงศ์ อริรุทธา เป็นอาจารย์ที่ดูแลและให้คำปรึกษาโครงการฯมาตลอด เมื่อเกิดวิกฤต Covid ธุรกิจเริ่มได้รับผลกระทบ น้องจ๋า ว่า ตั้งแต่เริ่มเกิดเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้รายได้ของคนที่บ้านรวมถึงธุรกิจภายในชุมชนบ้านเกิดลดลง นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวลดลง คนก็ออกนอกบ้านน้อยลง เมื่อปริมาณการซื้อน้อยลง ปริมาณการผลิตก็ต้องลดลงตาม คนที่ชุมชนก็ว่างงานรายได้ลดลง แต่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม น้องลิลลี่ หรือ น.ส.ชวลัน ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ CHAVALAN Handcrafted & Customized Thai Silk Bag กระเป๋าผ้าไทย สไตล์วัยรุ่น พิมพ์ชื่อได้ เล่าว่า ได้รับผลกระทบจากการกักตัวของประชาชน ทำให้ความต้องการซื้อของใช้อย่างกระเป๋ามีความสำคัญเป็นรองจากการซื้ออาหาร ทำให้ยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ได้พลิกวิกฤตให้เป็น “โอกาส” โดยนำความรู้ที่เรียนมาพัฒนาธุรกิจบ้านเกิด ซึ่งน้องจ๋า ว่า แรกเริ่มที่บ้านและคนในชุมชนรวมตัวกันทำจักสาน เพื่อส่งให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางไปขายในตัวอำเภอ แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่งจะเกิด Covid ขึ้น  คนที่บ้าน คนที่ชุมชน ต่างได้รับผลกระทบกันแทบทุกครัวเรือน จ๋ากับเพื่อนจึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาจากสิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยมา โดยสร้างร้านค้าขึ้นบนออนไลน์ e-commerce platform ด้านน้องลิลลี่ว่า แรกเริ่มใช้วิธีการขายแบบ Offline ปากต่อปาก ใช้สวย ดี บอกต่อ คนเห็นเราใช้ก็ชอบก็อยากได้บ้าง แต่แล้วเมื่อเกิดวิกฤต Covid ทำให้ได้รับผลกระทบพอสมควร จึงเริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆ อย่าง e-commerce platform โดยสร้าง Facebook Page ทำให้คนรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น จึงทำให้ยอดขายมากขึ้นเช่นกันค่ะ ทั้งนี้ ผลตอบรับที่กลับมา น้องจ๋าว่า ยอดขายพุ่งขึ้นจากเดิมสูงมาก จากรายได้ที่เคยได้จากพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง วันนี้มีรายได้เพิ่มมาอีกช่องทางและเป็นรายได้ที่ชุมชนสามารถตั้งราคาที่ชุมชนอยากจะขาย ลูกค้าก็ได้ราคาจากโรงงาน ลูกค้าแฮปปี้ ชุมชนแฮปปี้ เราก็มีความสุขค่ะ “ ตั้งแต่เริ่มมาเป็น e-commerce ผลตอบรับดีมากค่ะ แบรนด์เราเป็นที่รู้มากขึ้นในวงกว้าง มียอดขายมากขึ้น ทำให้สินค้าของชุมชนได้เข้าสู่ตลาดกว้างขึ้นด้วย น้องลิลลี่ทิ้งท้าย ด้วยการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ธุรกิจต้องเจอปัญหารายได้ลดลง น้องๆ นักศึกษาจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิดที่กำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างยากลำบาก ด้วยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ พร้อมจับมือข้ามวิกฤต COVID-19ไปด้วยกัน