กระทรวงอุตสาหกรรมสั่งด่วน “กสอ.”ปรับโครงสร้างหนี้อุตสาหกรรมครัวเรือน หัตถกรรม ยืดชำระหนี้สูงสุด 6 ปี พักดอกเบี้ย หวังฟื้น 678 กิจการ ให้ดีพร้อมใน 90 วันฝ่าวิกฤติโควิด-19 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ กสอ.โดยคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้ให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้วกว่า 2,000 กิจการ แต่พบว่าผลกระทบโควิด-19 ยังมีอยู่ จึงเร่งขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรม ดีพร้อมทันที 90 วันผ่านการพิจารณาปรับลดโครงสร้างหนี้เงินทุนหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ปีบัญชี พ.ศ.2563 ทั้งนี้ 7 กลุ่มอุตสาหกรรมประกอบด้วย 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3.ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4.ของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง 5.ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกที่สะท้อนวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 6.สมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร 7.อุตสาหกรรมอื่นๆที่สนับสนุนเกื้อกูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ใน 7 อุตสาหกรรมข้างต้น ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาเป้าหมายที่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมมาตรการเยียวยาโควิด-19 “พักหนี้ค้างชำระ-ขยายระยะเวลาผ่อน” แต่พบว่ายังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยปรับลดโครงสร้างหนี้เงินทุนหมุนเวียนกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 6 งวด และยังไม่ได้ดำเนินการทวงหนี้ตามกระบวนการกฎหมายมีสิทธิ์ขอขยายเวลาชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 6 ปี โดยแนวทางดำเนินงานปรับโครงสร้างหนี้นับจากนี้ กสอ.จะเร่งแจ้งสิทธิ์ตามมาตรการ เพื่อให้ลูกหนี้ทุกรายได้รับทราบ โดยลูกหนี้สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้กับเงินทุนหมุนเวียนฯ เพื่อเข้าสู่การตรวจสอบคุณสมบัติ พิจารณาอนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการได้ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ยื่นคำร้อง ยื่นได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยประสานได้ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม กสอ.คาดว่าการปรับโครงสร้างหนี้เงินทุนหมุนเวียนจะสามารถฟื้นฟูลูกหนี้ค้างชำระให้สามารถชำระหนี้ได้และปรับระดับมาอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ปกติ รวมมูลค่าหนี้ค้างชำระกว่า 57 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกิจการ และนำพาภาคอุตสาหกรรมให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติได้ทั้งสิ้น 678 กิจการ