นายบรรยง​ วิทยวีรศักดิ์​ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก​ (APFinSA)​ได้โพสต์บนเพจเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า ผมไม่เชื่อว่า โควิด-19 จะกลับมาระบาดรุนแรง ตอนนี้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19ได้เบาบางลงแล้ว ไม่มีการติดเชื้อในหมู่ประชาชนที่อยู่ในประเทศมากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว ที่มีการประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันก็เป็นกลุ่มที่มาจากต่างประเทศและถูกกักตัวอยู่ (State quarantine) ไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับประชาชนคนทั่วไปได้ ผมจึงมั่นใจว่ารัฐบาลเอาอยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหมอหลายคนออกมาเตือนว่าจะเกิดการระบาดระลอกสอง ซึ่งจะรุนแรงกว่าเดิม ขอให้ประชาชนการ์ดอย่าตก ผมเห็นด้วยที่พวกเราประชาชนต้องตระหนักในปัญหา ช่วยกันระมัดระวังป้องกันตนเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกไปนอกบ้าน และหมั่นล้างมือก่อนทานอาหารหรือไม่จับต้องอะไรที่ไม่คุ้นเคย แต่ถ้าจะบอกว่าจะมีการระบาดรุนแรงระลอกสองแน่นอน อันนั้นผมไม่เชื่อ ผมไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป จนกระทั่งเสียบรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอย หรือกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ (บนพื้นฐานของการระมัดระวังป้องกันตนเองที่เป็น New normal ) เหตุผลที่ผมไม่เชื่อว่าจะมีการระบาดรุนแรงอีกครั้ง คือ 1. ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคนี้ขึ้นมาก ทั้งการใส่หน้ากากอนามัยและการล้างมือ หากมีการพบการติดเชื้อที่ไหน ประชาชนในท้องที่นั้น พร้อมที่จะยกการ์ดขึ้นสูงทันที ทำให้เชื้อแพร่ขยายได้ยาก 2. หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือตอนนี้มีใช้อย่างเพียงพอ ไม่เหมือนตอนที่ระบาดใหม่ๆ ที่ทั้งขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวและมีราคาแพง แถมคนยังไม่ใส่หน้ากากจนเคยชินอย่างปัจจุบัน 3. มีการตรวจเช็คสกรีนผู้ป่วยอย่างทั่วถึง ไม่ว่าสนามบิน อาคารสำนักงาน สถานที่ราชการหรือร้านสะดวกซื้อ จึงทำให้คนที่ติดเชื้อหลุดรอดไปได้ยาก 4. อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อจากผู้ต้องสงสัยมีประสิทธิภาพและมีจำนวนเพียงพอในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่เหมือนช่วงแรกๆที่อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจไม่เพียงพอ 5. การรักษาพูดติดเชื้อโควิด-19 ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากแพทย์และพยาบาลมีประสบการณ์ในการดูแลรักษามากขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจก็มีประสิทธิภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อน้อยลง อย่างที่ผมเคยบอกไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่า ในอนาคตโรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ตราบใดที่คนทั่วโลกยังไปมาหาสู่กัน ถึงแม้ประเทศไทยจะควบคุมโรคได้จนไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 เลย แต่เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมา อาจจะมีผู้ป่วยติดมาด้วย ทำให้มีการแพร่เชื้อในประเทศไทยได้ การมีวัคซีนจะช่วยให้เราสกัดกั้นเชื้อเหล่านี้ได้มากขึ้น แต่เมื่อเราไม่สามารถฉีดวัคซีนให้กับทุกคนได้หมด เนื่องจากมันมีราคาแพงและใช้เวลานานในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ดังนั้น มันก็จะมีหลงเข้ามาอยู่เป็นระยะๆ ภาพในอนาคตโรคระบาดโควิด-19 ก็คงจะเหมือนกับโรคระบาดอื่นๆ ที่เมื่อมีการส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หากตรวจสอบแล้วเป็นโรคโควิด-19 ก็จะมีการแจ้งให้คนในท้องที่นั้นระมัดระวัง ให้คนในบ้านและผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิดต้องมาตรวจหาเชื้อ ส่วนคนอื่นๆก็ต้องใส่หน้ากากไว้อีกสักระยะหนึ่ง เหมือนกับที่ผ่านมา ตอนที่ลูกสาวผมป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โรงพยาบาล(เอกชน)ต้องแจ้งไปที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อซึ่งจะประสานงานให้เจ้าหน้าที่กทม.มาฉีดพ่นยาฆ่ายุงในพื้นที่บ้านของผม พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในท้องที่ ช่วยกันกำจัดยุงลายเพื่อป้องกันไข้เลือดออก เราก็จะอยู่กับโรคโควิด-19 กันไปเหมือนกับที่เราอยู่กับโรคไข้เลือดออกมาหลายสิบปีที่ผ่านมานั่นแหละ อนึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ เพิ่งมีผลวิจัยจากเมืองฮ่องกงพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า การระบาดของโรคโควิด-19ในฮ่องกง ส่วนใหญ่เกิดจากซุปเปอร์สเปรดเดอร์ (Superspreader) คือ ผู้ป่วยเพียงคนเดียวแต่แพร่ให้คนอื่นพร้อมกันทีเดียว 20 - 30 คน ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถึง 70% ไม่ได้แพร่เชื้อต่อไปให้คนอื่น นั่นหมายความว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคที่จะติดกันได้ง่ายดายเสียทีเดียว ต้องอยู่ในสภาพวะแวดล้อมที่เหมาะสม มันถึงจะสามารถแพร่เชื้อได้อย่างทวีคูณ (ดังบทความที่ผมเขียนไว้เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2563 / แทนคุณแผ่นดินครั้งที่ 13) กล่าวคือ ต้องประกอบด้วยปัจจัยเหล่านี้ครบถ้วน จึงจะทำให้มีการแพร่เชื้อแบบซุปเปอร์สเปรดเดอร์ได้ คือ 1. คนอยู่รวมกันอย่างแออัด 2. อยู่ในสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท 3. อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาลงไป 4. มีผู้ป่วยโควิด-19 ร่วมตะเบ็งเสียงดัง ทำให้ฝอยน้ำลายกระจายออกไป สถานที่ที่เหมาะกับการเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ได้แก่ สนามมวยที่ติดแอร์และมีการส่งเสียงเชียร์กัน ผับบาร์ที่คนต้องตะเบ็งเสียงคุยเพื่อแข่งกับเสียงดนตรี หรือโบสถ์ติดแอร์ที่ต้องมีการส่งเสียงร้องเพลงดังๆเพื่ออวยพรพระเจ้า บรรยากาศแบบนี้เอื้ออำนวยให้เกิดการแพร่เชื้อแบบซุปเปอร์สเปรดเดอร์ ซึ่งถ้ารัฐบาลและประชาชนเข้าใจ ก็จะลดการแพร่เชื้อได้เป็นจำนวนมาก ส่วนการที่อาจมีผู้ป่วยส่วนน้อยไปแพร่เชื้อต่อไปได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวที่มีการกอดหอมแก้มกัน ในลักษณะหายใจรดกัน แต่ถ้าไม่ได้ใกล้ชิดขนาดกอดหอมแก้มกันแล้ว พบว่ามีการแพร่เชื้อต่อในอัตราส่วนที่น้อยมาก ตามข้อมูลสถิติที่ได้จากฮ่องกง พบว่าการแพร่เชื้ออยู่ในอัตราส่วน 20:80 กล่าวคือ คนป่วย 20% เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อถึง 80% ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 70% ไม่มีการแพร่เชื้อต่อ (ผู้ป่วยที่เหลืออีก 10% แพร่เชื้อได้ 20% ) โดยบางประเทศอัตราส่วนถ่างกว้างเป็น 10:90 เสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ ผู้ป่วย 10% เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อถึง 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด จากข้อมูลที่ได้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า รัฐบาลควรควบคุมเฉพาะกิจการหรือกิจกรรมบางอย่างที่เอื้อให้มีการแพร่เชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องปิดล็อกดาวน์ธุรกิจที่เหลือทั้งหมด เหมือนอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทำมาแล้ว คือ ควบคุมกิจกรรมบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูง ที่เหลือก็ให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผลคือรัฐยังสามารถควบคุมของการระบาดได้ดี ตอนนี้คนไทยคลายความวิตกโรคโควิด-19 กันพอสมควรแล้ว ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งดีที่ประชาชนจะมีความมั่นใจ ออกมาจับจ่ายใช้สอย ใช้ชีวิตประจำวันเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ขอให้เราอยู่กับมันอย่างเข้าใจ อย่าให้ผีโควิด-19 หลอกหลอนเราจนไม่กล้าทำอะไร ไม่อย่างนั้น คนจะตายเพราะพิษเศรษฐกิจมากกว่าโรคโควิด-19 แน่นอนครับ ข้อมูลอ้างอิง https://www.sciencealert.com/70-of-those-infected-with-the-coronavirus-d...