ผอ.สทบ.เปิดโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ บอก ภูมิใจเสนอโครงการได้ดีในระดับต้นของประเทศ ด้าน "ประธานเครือข่าย กทบ.แม่ตื่น" สัญญาพร้อมดูแลป่าต้นน้ำ บ้านห้วยมะพร้าว ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก หมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มาเกือบ 200 ปี ประชาชน จำนวน 56 หลังคาเรือน ประมาณ 280 คน ประสบความลำบากในการดำรงชีวิต เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563 ที่ทำการกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ตามโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2563 โดยกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว ได้นำงบประมาณดังกล่าวมาจัดซื้อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า และอุปกรณ์ในการติดตั้งกระจายไฟฟ้าให้กับกลุ่มหมู่บ้านของกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าวพร้อมทั้งเยี่ยมชมการสาธิตอาชีพตามวิถีชนเผ่าปกาเกอะญอ นายรักษ์พงษ์ กล่าวว่า ตนภูมิใจในตัวพี่น้องชาวปกาเกอะญอทุกคน ที่สามารถคิดโครงการได้ขนาดนี้ ในอนาคตเราพร้อมจะสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านฯ ของที่นี่ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาฐานรากต้องทำที่กองทุนหมู่บ้านฯ จึงจะทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างกองทุนหมู่บ้านร่มเกล้าสหมิตร ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก ที่ทำให้เห็นว่าการมีกองทุนหมู่บ้านฯ ทำให้พื้นที่นั้นมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทางด้านนายเลิศศักดิ์ ทับผึ้ง นายอำเภอแม่ระมาด จ.ตาก กล่าวว่า ชาวบ้านชาวปกาเกอะญอที่นี่ทำการเกษตร ยังทอผ้าใช้เอง และมีการใช้ศาสตร์ของพระราชาในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ที่นี่ยังคงเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม วิถีชีวิตของพี่น้องที่นี่ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวปกาเกอะญอ ถือว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่จะแตกต่างจากอีกหลาย ๆ อำเภอ ดังนั้นการเรียกร้องขอสิทธิ์ต่าง ๆ ก็จะเป็นในแบบวิถี ตนในฐานะในอำเภอแม่ระมาด ได้มาเยี่ยมเยียน และเห็นความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ซึ่งส่วนไหนที่เราสามารถสนับสนุนได้ก็ยินดี อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณผู้อำนวยการ สทบ. ที่เห็นความสำคัญ และมาเยี่ยมเยียนพบปะพี่น้องที่นี่ ซึ่งจะทำให้ได้รู้ถึงสภาพพื้นที่ของเราว่ามีความจำเป็น และต้องการที่จะพัฒนา ขณะที่นายศักดิ์สิทธิ์ มติกวิน ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ ระดับตำบลแม่ตื่น กล่าวว่า เราอยู่ในพื้นที่นี้กว่า 200 ปี และไม่มีไฟฟ้าใช้ จนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านโครงการที่เราคิด และเสนอไป ทั้งนี้ เรามีต้นทุนเรื่องน้ำอยู่แล้ว ขาดแต่งบประมาณ ซึ่งหลังจากที่เราได้รับงบประมาณแล้ว จึงทำให้เราเลือกทำโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำให้กับชาวบ้าน สำหรับโครงการนี้ เราสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับชุมชนได้ทั้งหมด 52 ครัวเรือน 1 กลุ่มบ้าน อย่างไรก็ตาม พื้นที่ ต.แม่ตื่น มีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน เราได้เสนอโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไปทั้งหมด 9 หมู่บ้าน โครงการร้านค้ากองทุนหมู่บ้านฯ 1 หมู่บ้าน และโครงการประปาหมู่บ้านเพื่อขุมชน 1 หมู่บ้าน ยังขาดอีก 2 หมู่บ้านที่ยังไม่สมบูรณ์ ตนจะพยายามจะดูแลให้ดีที่สุดเพื่อพี่น้อง ทั้งนี้ หลังจากดำเนินโครงการทำให้ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น ไม่ว่าจะฤดูฝน หรือแล้ง เราก็มีไฟฟ้าใช้ อาจจะไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความเป็นอยู่ก็ถือว่าดีเยี่ยม สำหรับหมู่บ้านห้วยมะพร้าวเอง มีทั้งหมด 6 กลุ่มบ้าน มีการเสนอโครงการและทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 กลุ่มบ้าน รวม 150 ครัวเรือน มีการขยายพื้นที่โครงเพิ่มเติมจากกำไรที่ได้ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่มีจำนวนหลายครัวเรือน และเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยงานสำคัญ ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง แต่ยังขาดงบประมาณบางส่วนในการดำเนินโครงการ โครงการอนุรักษ์ต้นน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2563 ที่ได้ดำเนินการแล้ว ภายหลังจากได้มีการโอนงบประมาณ 200,000 บาท โดยกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว (หมู่บ้านชาวปกากะญอ).แม่ตื่น อ.แม่ระมาด ที่ได้นำงบประมาณมาจัดซื้อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ในการติดตั้งกระจายไฟฟ้าให้กับกลุ่มหมู่บ้านของกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว เจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าของโครงการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงาน พร้อมคณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2563 ที่ได้ดำเนินการแล้วหลังจากได้มีการโอนงบประมาณ 200,000 บาท โดยกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว ตำบลแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ได้นำงบประมาณมาจัดซื้อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ในการติดตั้งกระจายไฟฟ้าให้กับกลุ่มหมู่บ้านของกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้มาเกือบ 200 ปี มีความลำบากในการดำรงชีวิต ผลที่ได้รับคือประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 56 หลังคาเรือน ประมาณ 280 คน โครงการนี้เป็นนโยบายในการเสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้กับพี่น้องกองทุนหมู่บ้านฯ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานราก สร้างชุมชนเข้มแข็งและต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีอยู่กว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งโครงการวันนี้ได้พาสื่อมวลชนมาติดตามเพื่อให้มีการเผยแพร่เป็นตัวอย่าง และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด //////////