นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบการขนส่งสาธารณะทุกประเภท เนื่องจากต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด ในขณะที่ยังคงอัตราค่าโดยสารไว้ ซึ่งกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม กำลังพิจารณาขีดความสามารถของหน่วยงานว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ในระดับไหน เช่น ลดต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าธรรมเนียม หรือช่วยเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ดูว่าอะไรที่รัฐพอช่วยเหลือได้บ้าง นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นอกจากในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคมที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงเรื่องโบนัสของรัฐวิสาหกิจ โดยสั่งห้ามเสนอเรื่องจ่ายโบนัสเด็ดขาด หากหน่วยงานใดเสนอมา จะรายงาน ต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานนั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินให้เกิดประโยชน์ สูงสุด เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ จะจ่ายโบนัส 7เดือน 8 เดือน ก็ได้ ดังนั้นขอความร่วมมือและให้ชี้แจงพนักงานให้เข้าใจสถานการณ์ "ได้มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งในสังกัดฯ ได้เสนอรายงานงบการเงิน โดยระบุถึงการจ่ายโบนัสประจำปีด้วย ซึ่งได้ให้กลับไปทบทวนแล้ว เพราะขณะนี้เป็นภาวะ ที่ทุกคนเดือดร้อน การที่หน่วยงานกำหนดที่จะจ่ายโบนัสพนักงาน จึงไม่น่าเป็นหลักการที่ดี" ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีทั้งสิ้น 12 หน่วยโดยล่าสุดเหลือ 11 หน่วย เนื่อง จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจ หลังกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้น โดยรัฐวิสาหกิจที่มีการจ่ายโบนัสสูงสุด คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยปี 2562 จ่ายโบนัส 7.25 เท่าของเงินเดือน จากผลดำเนินงานที่มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2563 คาดว่าผลประกอบการและกำไรจะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สายการบินหยุดทำการบิน โดยช่วง 6 เดือนแรก/63 มีกำไรสุทธิ 1 หมื่นล้านบาทเศษ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.68% แต่คาดว่า ครึ่งปีหลัง มีโอกาสฟื้น และยังมีศักยภาพในการจ่ายโบนัสได้ ล่าสุดรายงานข่าวแจ้งว่า ทอท.จะงดจ่ายโบนัสในปี 63 นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง ที่มีผลประกอบการดี และสามารถจัดส่งรายได้เข้าคลัง เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การ ท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ซึ่งที่ผ่านมา มีโบนัสในระดับ 4-5 เท่า บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) มีโบนัสเฉลี่ย 4 เท่า หรือ รัฐวิสาหกิจที่มีงบการเงินในระดับดี มีคะแนนการประเมินจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จนสามารถจ่ายโบนัสได้ราว 0.5 เท่า เพื่อเป็นขวัญกำลังใจพนักงาน เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นต้น หากเป็นไปตามนโยบายนี้ ในปี 2563 ทุกรัฐวิสาหกิจ จะต้องงดจ่ายโบนัส และส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น