สำนักงานชลประทานที่ 6 เดินหน้าโครงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเสียวใหญ่ คาดหลายโครงการแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2563 พร้อมใช้งานและเริ่มเก็บกักน้ำได้ในฤดูฝนนี้ หวังแล้งหน้าชาวบ้านมีน้ำใช้ไม่ขาดแคลน เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ลำน้ำเสียวใหญ่ เป็นลำน้ำสายหลักของลุ่มน้ำลำเสียวน้อย และลำเตา ครอบคลุมพื้นที่ 16 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ และยโสธร ความยาวลำน้ำ 245 กิโลเมตร มีความลาดชันในบริเวณพื้นที่ตอนบน และตอนกลาง จนถึงช่วงปลายของลำน้ำจุดบรรจบกับ แม่น้ำมูล สภาพของลำน้ำเสียวใหญ่ที่บางช่วงเล็กแคบและตื้นเขิน รวมทั้งฝายที่อยู่ตามลำน้ำเสียวใหญ่ส่วนใหญ่ไม่มีประตูระบายน้ำควบคุม ทำให้การระบายน้ำในช่วงน้ำหลากไม่ค่อยสะดวก ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มน้ำเสียวใหญ่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน และเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งก็มักจะประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพียงพอ ดังเช่น ในช่วงฤดูฝนปี 62 ที่ผ่านมาได้เกิดพายุโพดุลพัดผ่านเข้าประเทศไทย ส่งผลให้พื้นที่ลำน้ำเสียวใหญ่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะที่จังหวัดร้อยเอ็ดได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ พื้นที่ 144,538 ไร่ สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุงอาคารชลประทาน เพื่อเร่งการระบายน้ำและกักเก็บน้ำ ปรับปรุงคันกั้นน้ำที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ขุดลอกแก้มลิงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความจุและตัดยอดน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเสียวใหญ่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝนปีนี้อย่างเต็มศักยภาพ ด้านนายศักดิ์ ศิริอยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยในลำน้ำเสียวใหญ่ ซึ่งหลายโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ อาทิ โครงการขุดลอกเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำลำเสียวใหญ่บ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำ รวมทั้งป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลเมืองบัว อีกทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้ประมาณ 317,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้มีการจ้างแรงงานเกษตรกร ตามมาตรการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงานขุดลอกตะกอนในลำน้ำเสียวใหญ่ มีผลงานความคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 70 ของแผนงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ทันในช่วงฤดูฝนนี้ สำหรับสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้าอย่างไม่ขาดแคลนต่อไป