ดร.กมลกนก เกียรติศักดิ์ชัย คณบดีโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึง หลักสูตรการยกระดับสมรรถนะแม่บ้านมืออาชีพ เพื่อรองรับแรงงานภายหลังวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ว่า สืบเนื่องจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้เชิญให้สถาบันอุดมศึกษานำร่องเสนอ หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) เพื่อรองรับงานใหม่ๆ และในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม 8 กลุ่มสาขาวิชาชีพ ได้แก่ 1. Smart Innovative Entrepreneur 2. Smart Farming 3. Care Giver 4. Smart Tourism 5. Data Science 6. Creative content 7. Food for the future 8. Robotic/AI ทั้งนี้ โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มสด. ได้ส่ง “ หลักสูตรการยกระดับสมรรถนะแม่บ้านมืออาชีพ ” เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และเป็นหลักสูตรเดียวของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่ผ่านการคัดเลือกจากกระทรวง อว. โดย ดร.สุวมาลย์ ม่วงประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ลงนามความร่วมมือตามโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ และร่วมประชุมออนไลน์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของเครือข่าย UniNet เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ดร.กมลกนก กล่าวต่อว่า หลักสูตรการยกระดับสมรรถนะแม่บ้านมืออาชีพ ได้พัฒนาหลักสูตรมาจาก อัตลักษณ์ที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยว ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยคำนึงถึงผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลเป็นวงกว้างทำให้ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยหยุดชะงัก เกิดภาวะการว่างงาน แรงงานคืนถิ่น และที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อภาวะการมีงานทำของบัณฑิตที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา หลักสูตรการยกระดับสมรรถนะแม่บ้านมืออาชีพ จึงเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 สร้างทักษะให้กับกลุ่มว่างงาน/แรงงานคืนถิ่น/ผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถสร้างงาน-สร้างอาชีพด้วยตนเอง มีศักยภาพพร้อมทำงานหลังโควิด-19 ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และ นักท่องเที่ยวจะคำนึงถึงสุขอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของ หรือสถานที่ที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงการรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ จะเกิดการกำหนดมาตรฐาน และหลักปฏิบัติในการรักษาความสะอาด ปลอดภัย และวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จึงเป็นโอกาสอันดีที่หลักสูตรธุรกิจการโรงแรม โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ ได้เข้ามา เตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บัณฑิตจบใหม่ หรือแรงงานต่าง ๆ พร้อมเปิดโอกาสในการจ้างงานจริง เพราะผู้ประกอบการเป็นเครือข่ายในความร่วมมือของโรงเรียนการท่องเที่ยวฯ เพื่อยกระดับสมรรถนะบุคลากรเข้าสู่วิชาชีพแม่บ้านอย่างเต็มตัว