มาถึงช่วงท้ายของมหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ อย่างโอลิมปิกเกมกันแล้ว หลายคนคงจะประทับใจบราซิลเจ้าภาพจัดการแข่งขันริโอ 2016 กันตั้งแต่พิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่อลังการตระกานตา สมเป็นโอลิมปิกหนแรกบนแผ่นดินอเมริกาใต้ ที่ชาวแซมบาภูมิใจนำเสนออวดสู่สายตาประชาคมโลก แต่กว่าจะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ละเมืองต้องเตรียมตัวหลายปีถึงจะมีโอกาสเสนอตัว และต้องมีแผนบริหารจัดการ ไม่เฉพาะการจัดการแข่งขันกีฬาเท่านั้น แต่รวมถึงความพร้อมด้านต่างๆ โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคที่ต้องรองรับคนจำนวนมาก ด้านหนึ่งหลังจบการแข่งขันก็จะกลายเป็นการพัฒนาเมืองไปในตัว แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็คือราคาที่เจ้าภาพต้องจ่าย ซึ่งจะบอกว่าบางเมืองลงทุนสูงมากกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ไปมาก กับการจัดการแข่งขันเพียงไม่ถึง 30 วัน แต่ต้องใช้หนี้กันยาวๆ ไปถึง 30 ปี เลยทีเดียว วันนี้เลยลองรวบรวมมหกรรมการแข่งขันโอลิมปิกที่ทุกคนยอมรับว่าสุดยิ่งใหญ่ แต่กว่าจะได้มานั้นต้องใช้จ่ายกันไปเท่าไหร่บ้าง แล้วจะรู้ว่าโอลิมปิกไม่ใช่ถูกๆ ๐ โอลิมปิกฤดูร้อนปี 2000 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นกว่า 6.6 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเกินงบที่ตั้งไว้ไปถึงร้อยละ 108 สำหรับการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน แต่ก็ต้องบอกว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ชนิดที่บรรดาสื่อเขียนชมว่า เป็นโอลิมปิกที่ดีที่สุด และไม่น่าจะมีดีได้กว่านี้อีกแล้ว คร่าวๆ ว่า 1.7-2.4 พันล้านถูกจ่ายไปกับการก่อสร้างสาธารณูปโภค แต่น่าเสียดายหลังจบการแข่งขัน หลายๆ สนามไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาได้ แม้จะมีความพยายามในปีถัดมาที่จะปรับเป็นสวนสาธารณะ หรือพื้นที่ใช้ประโยชน์ในชุมชนแต่ก็ล้มเหลว การแข่งขั้นครั้งนั้น เจ้าภาพออสเตรเลียคว้าที่ 3 ของตารางร่วมกับจีนด้วยผลงานเหรียญรวม 58 เหรียญ ส่วนอันดับ 1 และ 2 คือสหรัฐฯ และรัสเซียที่ทำได้ 89 และ 93 เหรียญตามลำดับ ๐ โอลิมปิกฤดูหนาวปี 2006 ที่โตริโน อิตาลี เกือบจะไปไม่รอดซะแล้วตอนที่โตริโน อิตาลีได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2006 เพราะมี 65 รายการที่ต้องก่อสร้างเพื่อรองรับการแข่งขันตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภค จนถึงหมู่บ้านนักกีฬา รวมๆ แล้วก็ประมาณ 1.7 พันล้านยูโร ทางเมืองยังทำการอัพเกรดถนนหลัก 11 เส้น รวมทั้งสร้างระบบรถไฟใต้ดิน เพื่อหวังชุบชีวิตพื้นที่อุตสาหกรรมที่ถูกทิ้งร้าง รวมค่าใช้จ่ายก็ราว 4.1 พันล้านยูโร เกินงบไปเบาๆ แค่ร้อยละ 113 เท่านั้น ระยะเวลาในการก่อสร้างสนามที่ใช้จัดการแข่งขันทั้งหมดก็คือตั้งแต่ปี 2000 -2005 หนึ่งในสนามที่สำคัญก็คือ เซซานา พาริออล ที่ใช้ในการแข่งขันรถเลื่อนหิมะ ราคา 85.78 ล้านยูโร ๐ โอลิมปิกฤดูร้อนปี 2012 ที่ลอนดอน อังกฤษ หากพูดถึงการปรับปรุงสนามโอลิมปิก สเตเดียมในกรุงลอนดอน ให้เป็นสังเวียนฟาดแข้งฟุตบอล หลายคนก็อาจจะคิดว่ามันน่าตื่นเต้นดี เว้นแต่ว่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นคือค่าใช้จ่าย ถ้าแค่เรื่องเดียวขนหน้าแข้งเจ้าภาพอาจจะยังไม่ร่วง แต่ภาพรวมแล้วโอลิมปิก 2012 ใช้งบเกินไป ร้อยละ 133 โดยเฉพาะศูนย์กีฬาอุทยานโอลิมปิกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ต้องใช้คนงานถึง 8 หมื่นคน เจ้าภาพอาจจะประหยัดได้กว่านี้หากเลือกใช่สนามที่มีอยู่แล้ว แต่นั่นหล่ะ หากหน้าไม่ใหญ่ใจไม่ป๋า คงไม่ได้รับเลือกแน่ๆ เพราะคู่แข่งแข็งๆ ตรึม และด้วยความที่ลอนดอนมีระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ดีนัก เลยทุ่มงบ 25 ล้านปอนด์กับระบบเคเบิลคาร์ เพื่อเชื่อมแต่ละสนามโดยเฉพาะ และยังกำหนดโอลิมปิกเลนรอบเมืองอีกด้วย ๐ โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1976 ที่มอนทรีออล แคนาดา พาย้อนไปไกลหน่อยเมื่อเดือน พ.ค. 1970 นครมอนทรีออล แคนาดา ได้รับสิทธิจัดโอลิมปิก 1976 เอาชนะกรุงมอสโก ของรัสเซีย และนครลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ ไปได้ แต่ทั้งหมดจบลงที่การใช้งบประมาณเกินกว่าที่ตั้งไว้ถึง ร้อยละ 1266 การแข่งขันครั้งนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะสนามโอลิมปิก สเตเดียมที่มีชื่อเล่นว่า "เดอะ บิ๊ก โอ" ที่ใช้งบเมืองไป 1.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไม่สามารถทำให้หลังคาเปิด-ปิดอย่างใจได้ จนจะไปไม่รอดแล้วรัฐบาลกลางรัฐควิเบกต้องยื่นมือเข้ามาช่วยสานต่อ และจบที่เมืองต้องใช้หนี้ไปอีก 30 ปี โอลิมปิกหนนั้นแคนนาดา เจ้าภาพคว้าเหรียญทองไม่ได้เลย แต่ทำได้ 5 เหรียญเงิน กับ 6 เหรียญทองแดง ๐ โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1992 ที่บาร์เซโลนา สเปน หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่นครบาร์เซโลนา เสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1992 เพราะต้องการจะพัฒนาเมือง โดยใช้เงินไป 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการเนรมิตเมืองให้พร้อมกับการเป็นเจ้าภาพ และใช้จ่ายเงินเกินงบประมาณไป ร้อยละ 609 มันยากที่จะกล่าวว่า ในแง่ของการจัดการแข่งขันประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่โอลิมปิกก็ได้ทำให้บาร์เซโลนากลายเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญของยุโรป นอกเหนือจากสนามใหม่แล้ว โรงแรม และสนามบินก็ได้รับการตกแต่งใหม่ทั้งหมด โอลิมปิกปี 1992 สเปนเจ้าภาพสามารถคว้าไปได้ 13 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง ๐ โอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 ที่โซชิ รัสเซีย เป็นอีกหนึ่งโอลิมปิกฤดูหนาวที่ชาวรัสเซียภูมิใจนำเสนอ นับเป็นการได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งแรกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 เริ่มแรกเจ้าภาพตั้งงบไว้ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เอาเข้าจริงกระเป๋าฉีกจ่ายไปถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะเป็นโอลิมปิกที่แพงที่สุดตั้งแต่เคยมีมาเลยก็ได้ เฉพาะค่าใช้จ่ายในการสร้างสาธารณูปโภคด้านกีฬาก็ปาเข้าไป 2.14 แสนล้านรูเบิลแล้ว จำนวนนี้ตัดมาเต็มจากงบประมาณชาติ 1 แสนล้านรูเบิล รัสเซียสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ 424 แห่ง แต่มีเพียงแค่ 13 แห่งเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับกีฬาโดยตรง อาจจะต้องใช้เวลานานสักหน่อยกว่าจะคืนทุน หรือทำกำไรได้จากสิ่งที่ใช้จ่ายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้นทุนสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่นั่นแหละ รัสเซียไม่แคร์ ๐ โอลิมปิกฤดูร้อนปี 2016 ที่ริโอเดจาเนโร บราซิล ปิดท้ายกันที่โอลิมปิกครั้งล่าสุดที่ริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ที่ในที่สุดก็สามารถจัดได้ ไม่ต้องเจอโรคเลื่อนหลังมีรายงานออกมาให้หวั่นไหวตลอดทั้งสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ความไม่พร้อม ไหนจะเรื่องซิการะบาด ตอนที่ริโอ ได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพนั้น มีการทำสำรวจความเห็นพบว่าร้อยละ 82 ของประชาชนสนับสนุน แต่ทำไปทำมาโพลล์เมื่อเดือน ก.ค. พบว่าร้อยละ 63 ของชาวบราซิล เห็นว่า โอลิมปิกครั้งนี้จะขาดทุนมากกว่ากำไร เพราะความที่เมืองเองก็ไม่พร้อม การจัดการแข่งขันใน 18 สนาม ที่ต้องสร้างใหม่ถึง 9 แห่ง และในจำนวนนี้ 7 แห่งจะถูกรื้อทิ้งเมื่อใช้เสร็จ ยังไม่มีการยืนยันว่าริโอ 2016 ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปเบ็ดเสร็จเท่าไหร่ แต่คร่าวๆ ว่าไว้ 4.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินงบที่ตั้งไว้ไปแล้วร้อยละ 51