เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ดีในระดับต้น ๆ ของโลก โดยมาจากความร่วมมือ ร่วมใจ ของประชาชนคนไทยทุกคน ที่ร่วมกันฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ในประเทศไทย ต้องยอมรับว่ามีความตระหนกถึงตัวเลขของยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างมาก มีอัตราการเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จนมาติดอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อในระดับต้น ๆ ของเอเชีย จนรัฐบาลต้องประกาศ “ปิดประเทศ” ชั่วคราว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการเข้า-ออก ของประชาชนที่มาจากต่างประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ “คนไทย” หรือแม้แต่การควบคุมจำนวนของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ ตลาด ,ห้างสรรพสินค้า ,สถานบันเทิง ,สถานที่ออกกำลังกาย ,สถานเสริมความงาม และสถานศึกษา เป็นต้น รวมถึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อให้มีการควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้บานปลายไปมากว่านี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก!!! โดยก่อนหน้านี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 เติบโตต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี ตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ในปี 2552 คาดว่าจีดีพีจะลดลงมาอยู่ที่ 0.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.7% และมองว่า ภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยมากที่สุด จากคาดการณ์ที่ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยจะ “หดตัวลึกในช่วงครึ่งแรกของปี” และจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น สยาม ราชประสงค์ รัชดาภิเษก ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่เดิมทีก็เผชิญความท้าทายจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านั้น หรือการลงทุนขยายสาขาใหม่ และการบำรุงซ่อมแซมสาขาเก่า รวมถึงการบริหารพื้นที่เช่าให้สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการแข่งขันกับอีคอมเมิร์ซที่มีบทบาทในตลาดมากขึ้น ทำให้มีโรงแรม ,ธุรกิจท่องเที่ยว และบริษัทห้างร้านหลายแห่ง ต้องปิดกิจการ รวมถึงปลดพนักงาน! แต่ด้วยความร่วมมือของคนในชาติ ที่ร่วมใจกันฝ่าฟันวิกฤติไวรัสโควิด-19 สามารถทำให้สถานการณ์ คลี่คลายลงได้อย่างมาก ส่งผลให้รัฐบาลได้ออกมาตรการคลายความเข้มงวดมาเป็นระยะๆ จนล่าสุดมาถึง “การคลายความเข้มงวดระยะที่ 3” ซึ่งประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เกือบอิสระ อาทิ สามารถเดินห้างสรรพสินค้าได้ ,ดูหนังในโรงภาพยนตร์ได้ ,ทำความสวย ความงามได้ และเล่นกีฬาได้หลายหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการลดเวลาเคอร์ฟิว เหลือเวลา 23.00-03.00น. และที่น่าสนใจ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงเจตนาของการขยาย พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลทำเพื่อให้การบริหารสถานการณ์ในภาพรวมของ ศบค. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ หากสถานการณ์ดีขึ้นในระยะ 4 อาจจะมีการพิจารณายกเลิก พรก.ฉุกเฉิน แต่ยังมีความจำเป็นต้องคง พรก. ไว้ เพื่อเตรียมพร้อมในการดำเนินมาตรการต่ออย่างราบรื่น เพื่อให้ควบคุมสถานการณ์ต่อไปได้ ดำเนินมาตรการรองรับในขั้นตอนต่อๆไปได้ “หลังจากนี้จะเป็นการทยอยผ่อนคลายมาตรการมีหลายอย่าง คืออยากให้ประชาชนมีรายได้ แต่อะไรที่เสี่ยงมาก ๆ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ส่วนต้องรอ 14 วัน เหมือน หลักการเดิมหรือไม่ ค่อย ๆ ผ่อน ขอให้รอพิจารณาก่อน” นับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ! ขณะที่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ “ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 จะช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าออกมาตรการคลายความเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา มีระยะเวลาที่ยาวนาน จนอาจทำให้บางกิจการไม่สามารถไปต่อได้หรือปิดตัวลง ซึ่งการคลายความเข้มงวดจะต้องระมัดระวัง เพราะหากยาวนานเกินไปก็อาจจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ลุกลามได้ รวมทั้งในปัจจุบันความจำเป็นของการใช้ พรก.ฉุกเฉิน คงไม่จำเป็นมากนัก เพราะการแพร่ระบาดคนต่อคนในประเทศไม่มี อย่างไรก็ตาม มองว่าการออกมาตรการคลายความเข้มงวดระยะ 3 ของไทยถือว่าล่าช้าไป ซึ่งน่าจะดำเนินการก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้รวดเร็ว แต่ยังโชคดีที่ประเทศไทยมีความร่วมมือที่ดี ทั้งรัฐบาล การวาง ระบบสาธารณสุข และความร่วมมือภาคประชาชน ที่ทำให้การแพร่ระบาดไม่รุนแรงจนควบคุมได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในการฟื้นตัว โดยที่ผ่านมาถือว่าประเทศไทยทำได้ดีกว่าในหลายหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับ “ณรงค์ เหล่าสุวรรณ” ประธานหอการค้าจ.มหาสารคาม กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 น่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ เพราะเมื่อธุรกิจเปิดให้บริการก็จะเกิดการใช้จ่าย แต่ตัวเลขเศรษฐกิจจะไม่ดีดกลับไปเป็นปกติ แต่จะค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี นับจากวันนี้ “คนไทย” ต้องช่วยกันประคับประคองไม่ให้ไวรัสโควิด-19 กลับมารุนแรงอีก!!! มิเช่นนั้น.....สิ่งที่พวกเราทุกคนทำมาจะสูญป่าว!!! เศรษฐกิจไทยจะพังราบเป็นหน้ากอง!!!