"พณ."ชี้ไทยเข้าสู่ยุคเงินฝืด เผยเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ลดลง 3.44% ต่ำสุดรอบ 10 ปี สาเหตุสำคัญราคาจากน้ำมัน โควิด-19 มาตรการช่วยเหลือภาครัฐทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ และอาหารสด ทำไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด คาดทั้งปีติดลบ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 99.76 ลดลง -3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในรอบ 10 ปี 11 เดือน แต่เมื่อเทียบเดือน เม.ย.63 ขยายตัว 0.01% โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 63 เฉลี่ย -1.04% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 102.51 เพิ่มขึ้น 0.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง -0.30% จากเดือน เม.ย.63 และช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) เฉลี่ย 0.40% ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 105.05 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.01% แต่เพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือน เม.ย. 63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 96.79 ลดลง -5.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 0.00% โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ นอกเหนือจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกที่ยังรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการลดลงของอุปสงค์และสงครามการค้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้งและอุปสงค์ในประเทศ ที่เริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคการผลิตและบริการอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี ดังนั้นเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.63 มีแนวโน้มที่จะยังหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -0.2% (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6%) "ขณะนี้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้ติดลบมาก ปีนี้เงินเฟ้อของไทยจะติดลบ แต่ติดลบเท่าไร ขอดูไตรมาส 2ก่อน โดยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ยังคงจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว