"บิ๊กป้อม-สมคิด" กลบข่าวขัดแย้ง เข้าสภาฯ ถกพ.ร.บ.โอนงบฯ 8.8หมื่นล้าน นั่งติดกัน-พูดคุยสีหน้ายิ้มแย้ม "บิ๊กป้อม" รับครั้งแรก "ไม่พร้อมนั่งหัวหน้าพปชร. ยันไม่มีอะไรแล้ว ทุกอย่างอยู่ที่สมาชิกพรรค "สุริยะ"ยันเสียงส่วนใหญ่หนุน "บิ๊กป้อม" รอ "อุตตม" เรียกประชุมพรรค เขินบอกนั่งรมว.อุตฯ มีความสุขดีแล้ว ด้าน"สมคิด" ย้ำไม่ได้อยู่สามมิตรมาตั้งแต่แรก "บิ๊กตู่"ยันไร้ความขัดแย้งในพปชร. พร้อมแจงพ.ร.บ.โอนงบฯ จำเป็นช่วยบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ชี้เป็นภัยร้ายแรงของ"ปท.-ศก." ยันใช้จ่ายอย่างเร่งด่วน-คุ้มค่า-โปร่งใสให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ส่วน"ชลน่าน" อภิปรายขู่"โหวตคว่ำ" หลังยก2เหตุผลรับไม่ได้ ซัดมัดมือสภา-ตีเช็คเปล่า พร้อมตั้งฉายา "จอมโอนแห่งยุค" มากสุดในประวัติศาสตร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคหลังกรรมการบริหารพรรค18คน ลาออกเกินครึ่ง ส่งผลให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคต้องพ้นสภาพทันที ว่า ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดวันประชุม ซึ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของพรรค หากพรรคเลือกใครก็เป็นเรื่องของคนนั้น เมื่อถามว่า ถ้ามีการเสนอให้พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ใช้คำว่า ถ้า ไม่ได้ๆ เพราะมันยังไม่เกิด จะมาถามไม่ได้ ทุกอย่างต้องแล้วแต่สมาชิกพรรค" เมื่อถามย้ำว่า หากมีการเสนอพล.อ.ประวิตร ให้เป็นหัวหน้าพรรค พร้อมเป็นหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวตอบดวยเสียงเข้มว่า "ไม่พร้อมๆ" ก่อนเดินขึ้นรถกลับไปทันที ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พล.อ.ประวิตร เอ่ยคำว่า ไม่พร้อม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้สงวนท่าทีต่อเรื่องการมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐมาโดยตลอด ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะรักษาการกรรมการบริหารพรรคพปชร. และแกนนำกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า ตามข้อบังคับพรรคเมื่อมีกรรมการบริหารพรรคลาออกเกินครึ่งก็ต้องเลือกกันใหม่คงเป็นไปตามกำหนดคือภายใน 45 วัน อยู่ที่ นายอุตตม สาวนายน รักษาการหัวหน้าพรรค เป็นผู้เรียกประชุมชุดที่รักษาการ เพื่อกำหนดวันประชุมใหญ่สามัญในการเลือกกก.บห.ชุดใหม่ นับจากวันที่ 1 มิ.ย.ที่มีการยื่นใบลาออกไป 45 วัน เมื่อถามว่า บรรยากาศหลังจากนี้ทำงานจะมีความอึมครึมหรือไม่ เพราะยังต้องทำงานร่วมกันต่อ นายสุริยะ กล่าวว่า เท่าที่ตนคุยกับกก.บห.ที่ทำหน้าที่รักษาการในชุดเดิม หลายคนบอกไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ในการพิจารณา ส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคพปชร. เมื่อถามว่า ที่บอกว่าพล.อ.ประวิตรมีความเหมาะสมนั่งหัวหน้าพรรค แสดงว่าชัดเจนแล้วใช่หรือไม่ที่ทุกกลุ่มในพรรคสนับสนุน นายสุริยะ กล่าวว่า "เท่าที่ผมคุยกับเสียงส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อว่าเช่นนั้น" เมื่อถามต่อว่ายัง มีความเห็นต่างระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร จะกลายเป็นรอยร้าวหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า นายสมคิดก็ไม่ได้พูดอะไร และการที่นายสมคิดไม่ได้อยู่ในกลุ่มสามมิตรก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความขัดแย้งในเรื่องการบริหารพรรค เมื่อถามย้ำว่า นายอุตตมส่งสัญญาณจะเรียกประชุมแล้วหรือไม่ หรือต้องรอทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสุริยะ กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกแล้วว่าการมีพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้เกี่ยวอะไรกันสามารถที่จะเรียกประชุมได้ภายใน 45 วัน เมื่อถามอีกว่า หากปัญหาภายในพรรคจบแล้วจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) เลยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ส่วนการที่มีการปล่อยข่าวว่าจะดึงพรรคเพื่อไทยเข้ามาร่วมรัฐบาลนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการขู่กันเองมากกว่า คงไม่เป็นความจริง เมื่อถามถึงกระแสข่าวในการปรับครม.มีความต้องการจะไปนั่งเก้าอี้รมว.พลังงาน นายสุริยะ กล่าวว่า ยืนยันว่าตนไม่เคยพูดอะไรในเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าใครนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นและตนอยู่ที่กระทรวงอุตสากรรมก็ทำงานได้อยู่แล้ว ส่วนถ้าปรับครม.ครั้งนี้ หากมีโอกาสจะไปนั่งที่กระทรวงพลังงานหรือไม่นั้น ตอนนี้การทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆก็ได้พบปะกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆทางสภาอุตสาหกรรม กลุ่มเอสเอ็มอีตนก็มีความสุขดีอยู่แล้ว ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะพูดถึงปัญหาภายในพรรค พปชร. ที่กำลังเกิดปัญหาความแตกแยกในพรรค พร้อมยืนยันว่าไม่ได้อยู่กลุ่มสามมิตรตั้งแต่แรกตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติ ธรรม และแกนนำกลุ่มสามมิตรออกมาระบุ ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.45 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ? วาระแรก ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอวงเงิน 88,452,579,900 บาทเพื่อโอนงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณต่างๆ ได้รับตามพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไปตั้งเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นำไปใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อมา เมื่อเวลา 10.00น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.โอนงบฯ หลักการคือให้โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของหน่วยรับงบประมาณเป็นบางรายการ ไปตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 88,452,597,900 ล้านบาท โดยงบฯของหน่วยรับงบประมาณ 39,893.1111 ล้านบาท งบฯรายจ่ายบูรณาการ 13,56.4868 ล้านบาท และงบฯรายจ่าย เพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 35,303.0000 ล้านบาท ซึ่งการพิจารณาในวันนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงของประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้จ่ายในงบประมาณกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามแผนเร่งด่วนต่างๆ ส่งผลให้งบฯ กลางเงินสำรองจ่ายที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต้องโอนงบฯของหน่วยรับงบประมาณ ที่ได้รับการจัดสรรไปตั้งไว้ในรายการเงินสำรองจ่าย ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณผ่านกลไกลต่างๆ เพื่อสนองตอบการแก้ไขปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์ "กฎหมายโอนงบประมาณรายจ่ายฉบับนี้มีความสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งทำให้การบริหารร่ายจ่ายประจำปี งบประมาณ 63 มีประสิทธิภาพคล่องตัวทันต่อการแก้ไขสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประชาชนและร่างพ.ร.บ.ดงกล่าวยังสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 35 (1) ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายจะโอนหรือนำไปใช้สำหรับหน่วยรับงบประมาณอื่นไม่ได้ เว้นแต่มีพ.ร.บ.ให้โอนหรือนำไปใช้ได้ อย่างไรก็ตาม งบประมาณดังกล่าวได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ หลักการ และเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยงบประมาณและรายงานที่นำมาจัดการพ.ร.บ.โอนงบฯฉบับนี้ ประกอบด้วย 1.รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่าย ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เม.ย.2563 อาทิ ค่าใช้จ่ายในจัดสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ และการจัดงานกิจกรรมต่างๆ 2.รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย อาทิ รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เม.ย.2563 และหรือไม่สามารถลงนามได้ทันในวันที่ 31 พ.ค. 2563 และ 3.รายการที่ชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2563" นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลคำนึงถึงการบริหารงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสที่3 และไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 63 ตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์และสวัสดิการเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมรวมถึง การพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงการสร้างงาน จึงหวังว่าสมาชิกจะให้การสนับสนุนและรับหลักการ เพื่อนำงบฯไปใช้แก้ปัญหาจำเป็นเร่งด่วนอย่างคุ้มค่าและโปร่งใส เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการชี้แจงการประชุมถึงความขัดแย้งภายในพรรคพปชร.ว่า ไม่มีปัญหา ก่อนจะเดินทางกลับ ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 63 จำนวน 8.8 หมื่นล้านบาท โดยระหว่างที่รอ นายกฯ ชี้แจงหลักการ และเหตุผลเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ซึ่งนั่งเก้าอี้ใกล้กัน ได้ทักทายพูดคุยด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งภายในพรรคและกรรมการบริหารพรรค ลาออกเกินกึ่งหนึ่ง จนทำให้หัวหน้าพรรค และ เลขาธิการพรรค พ้นสภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้อภิ ปรายว่า การพิจารณาร่างฉบับนี้ ขอเรียนตามตรงว่าไม่สามารถรับหลักการได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ 1.หลักการขัดกับหลักประชาธิปและกฎหมายอื่นโดยงบกลางไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยรับงบประมาณ แต่เป็นเพียงรายการการใช้เงินเท่านั้น ประกอบกับ งบกลางส่วนนี้ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจคือนายกฯเท่านั้น2.การโอนงบประมาณครั้งนี้ เรียกว่า จอมโอนแห่งยุค เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้โอนงบประมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จำนวน 4 ครั้ง ตั้งแต่ยุค คสช.ดังนั้น การทำร่างกฎหมายเช่นนี้ เหมือนเป็นการมัดมือสภาฯ และตีเช็คเปล่า ซึ่งหากสภาฯ อนุมัติให้ผ่านไป เราจะเป็นสภาฯจากการเลือกตั้งชุดแรก ที่มีรอยด่าง ว่าถูกมัดมือชก และเห็นชอบกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากการพิจารณาวาระ2และ3ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบอีก ฝ่ายค้านจะโหวตคว่ำเพื่อบันทึกเอาไว้ วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมยังไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ มายังพรรคร่วมรัฐบาล ต้องรอนายกฯเพราะเป็นอำนาจของนายกฯ เมื่อถามว่าในส่วนของพรรคภูมิใจไทยมีความเห็นอย่างไรถ้าจะมีการปรับครม.ในตอนนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ได้คิด รอให้เรื่องของงบประมาณผ่านก่อนดีกว่า เมื่อถามย้ำว่าพรรคภูมิใจไทยยังยืนยันโควตารัฐมนตรีในสัดส่วนเดิมหรือไม่ นายอนุทิน ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว พร้อมกับหัวเราะในลำคอ