ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า ตนและคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานคปภ.ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมในเวที Asia General Insurance Executive Forum ภายใต้หัวข้อ What can we do to increase the Value of Asian general insurance ? ซึ่งจัดโดยสมาคมประกันวินาศภัยของประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย regulators ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัย ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของสมาคมประกันวินาศภัยประเทศต่างๆในเอเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสนี้ตนได้นำเสนอข้อมูลเรื่องพัฒนาการระบบประกันภัยของไทยและแนวคิดในการเพิ่มคุณภาพของบริษัทประกันภัย ตลอดจนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยภายใต้หัวข้อ "Trust-How can we ensure the public's trust in insurance?" และหัวข้อ "ERM-How should insurers be managed?" โดยได้แสดงความคิดเห็นว่าการที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบประกันภัยนั้น จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพของระบบประกันภัยตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปลายกระบวนการ โดยเฉพาะในเรื่องช่องทางการขายมีความจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย รวมทั้งประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันภัยดีพอและต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ส่วนในประเด็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงของบริษัทหรือ ERM นั้นเป็นเรื่องซึ่งภาคธุรกิจประกันภัยต้องให้ความสำคัญและรู้ลักษณะของความเสี่ยง แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนนโยบายของบริษัท เพื่อจะสามารถเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆทั้งในเรื่องภัยธรรมชาติ การจู่โจมทางไซเบอร์ ตลอดจนวิกฤติการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่บ่อยครั้งยากที่จะคาดการณ์ได้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่าตนได้นำเสนอถึงประกาศฉบับใหม่ของ คปภ. และแนวทางใหม่ซึ่งจะกำกับดูแลและตรวจสอบในเรื่องระบบการบริหารความเสี่ยงอย่างเข้มข้นและเป็นระบบ อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้รับความสนใจ และมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในเวทีการประชุมครั้งนี้อย่างกว้างขวาง โดย คปภ.ได้รับการชื่นชมจากที่ประชุมฯ ว่ามีระบบและแนวทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยที่ดี อันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและอุตสาหกรรมประกันภัยของประเทศไทย ทั้งยังสามารถนำแนวทางกำกับดูแลดังกล่าวไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในประเทศอื่นๆได้ด้วย