ครั้งที่สองของปีนี้ กินเวลากว่า 3 ชม. แต่มองตาเปล่าอาจไม่ชัด NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “เตรียมชม #จันทรุปราคาเงามัว หลังเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน เข้าสู่รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563 ช่วงเวลาประมาณ 00:46-04:04 น. ตามเวลาประเทศไทย 00:46 น. ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าสู่เงามัวของโลก ความสว่างของดวงจันทร์จะค่อย ๆ ลดลงเล็กน้อย 02:24 น. เงามัวบังมากที่สุด ดวงจันทร์ปรากฏสว่างน้อยที่สุด 04:04 น. ดวงจันทร์เคลื่อนออกจากเงามัว สิ้นสุดปรากฏการณ์ รวมเวลาเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวนาน 3 ชั่วโมง 18 นาที ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว จะสังเกตด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่มีความสว่างในส่วนที่ลดลงเท่านั้น หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์จันทรุปราคามักเกิดขึ้นนานนับชั่วโมง เพราะเงาของโลกมีขนาดใหญ่มาก ต่างจากปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่สังเกตได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาในประเทศไทยครั้งต่อไป จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 นับเป็นจันทรุปราคาเงามัวครั้งที่ 3 ของปีนี้ที่เกิดขึ้นในไทย”