"สมศักดิ์" เตือนสติ "สมาชิกพปชร." หยุดใช้สื่อสร้างเครื่องมือทำลายพรรค ชู "บิ๊กป้อม" มีจุดแข็งเหมาะเป็นหัวหน้าพรรค ระบุปรับทัพใหม่เป็นการ "เจียระไนให้มีมูลค่าสูงขึ้น" หวังให้เป็นพรรคอันดับ1ของประเทศ ยันความสัมพันธ์"สมคิด"เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ย้ำไม่เกี่ยว "สามมิตร" เชื่อมีปรับครม.แน่ มั่นใจ"รบ.บิ๊กตู่" อยู่ครบเทอม ด้าน"สมพงษ์"ปัดข่าว"เพื่อไทย"จับขั้วรัฐบาลใหม่ แค่หวังดิสเครดิต มั่นใจข่าวปล่อยหวังต่อรองผลประโยชน์ในพรรคร่วมรบ.กันเอง "เต้น" แนะจับตา "เพื่อไทย" หอบผ้าหนีตามพปชร.ส่วน"สมชาย"ยัน สนช.ไม่ ใช่ "ส.ส.- ส.ว." ชี้เป็นองค์กรเฉพาะช่วงปฏิวัติ มั่นใจโหวต "สุชาติ" นั่ง "ป.ป.ช." ชอบด้วยกม. ที่ร้านกินเส้น สนามบินน้ำ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.63 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวเปิดใจถึงการลาออกของกรรมการบริหารพรรค 18 คน ว่า พรรคพปชร.เป็นพรรคการเมืองใหม่ แม้ที่จริงยังไม่ใช่พรรคที่มีเสียงส.ส. มากที่สุดในสภา แต่เมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคต้องมีกิจกรรมทางการเมืองที่กระฉับกระเฉง และมุ่งมั่น เพื่อเป็นหลักในทางการเมือง ดังนั้น การปรับปรุงองค์ประกอบของพรรค คือ การปรับพื้นฐานของพรรคให้มีความหนักแน่น มั่นคงมากขึ้น เพื่อนำพาพรรคไปสู่การเป็นเสาหลักที่มั่นคงของประเทศต่อไป ซึ่งการปรับปรุงพรรคจะเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ และเป็นธรรมชาติของพรรคที่มีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นรับมือกับสถาน การณ์ต่างๆได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง "การปรับโครงสร้างทางการเมือง ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารเดิมจะไม่สามารถกลับมาได้อีก บุคคลที่เข้า ใจชาวบ้าน เข้าใจ ส.ส. ย่อมได้รับคะแนนนิยมในพรรค ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ก็กลับเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของพรรคได้อีกเช่นกัน ซึ่งการลาออกของกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เปรียบเสมือนแก้วที่ตกผลึกแล้ว และกำลังจะถูกเจียระไนให้มีมูลค่าสูงขึ้น" นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขอฝากสมาชิกของพรรคทุกคน หยุดในสิ่งที่อาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิด จากการสัมภาษณ์ พูดคุย หรือสร้างเครื่องมือการสื่อสารทางสังคม ซึ่งอาจทำลายข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือบ้านเมือง และอาจจะเป็นการทำลายพรรคในทางอ้อม เมื่อถามว่า คนในพรรคต่างสนับสนุนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค ทุกคนมีโอกาสที่จะเข้ามาทำงานใหม่ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง โดยใครที่เข้าใจ และเสนอในส่วนที่จะตอบสนองประชาชนและประเทศชาติได้ คนนั้นก็จะได้รับการยอมรับ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ส่วนในความเห็นพล.อ.ประวิตรเหมาะสมหรือไม่นั้น ตนกำลังฟังว่าพล.อ.ประวิตรจะตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและประชาชนได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวก็มองว่าพล.อ.ประวิตรมีจุดแข็งที่สามารถนำเสนอ นโยบายให้กับรัฐบาลได้โดยตรง ส่วนที่ถูกมองว่าจะเป็นจุดอ่อน เพราะมาจากคสช.นั้น การเลือกกรรมมการบริหารชุดใหม่ เป็นเรื่อง สมาชิก ไม่ใช่แต่ส.ส.อย่างเดียว โดยจะมีตัวแทนแต่ละสาขา ซึ่งการเลือกก็จะขึ้นอยู่กับคนส่วนรวม ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์ กับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ขณะนี้เป็นอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนความเชื่อมโยงระหว่างนายสมคิดกับกลุ่มสามมิตรนั้น ย้ำว่าที่ผ่านมานายสมคิดเคยพูดในสภา และอีกหลายๆ ที่ โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง และไม่ใช่คนในกลุ่มสามมิตร ดังนั้นจะเอามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร เพราะเราได้สลายสามมิตรไปแล้ว ส่วนกรณีที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคจะถูกโยงกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เเน่นอน เพราะนายกฯได้แบ่งโควต้าให้กับพรรคการเมืองของแต่ละพรรค ซึ่งพรรคพปชร.เอง ก็จะต้องดูกระทรวงที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ส่วนที่ไม่ตอบสนองประชาชนนั้น ก็ต้องอาศัยโควต้ากลาง อย่างกระทรวงมหาดไทย พร้อมยืนยัน ส่วนตัวดีกับทุกคน ไม่มีปัญหาอะไร "ผมยืนยันว่า ภายในพรรคไม่เกิดการทะเลาะ แต่การปรับเปลี่ยนเพราะต้องการให้เกิดความกระฉับกระเฉง และขึ้นเป็นพรรคอันดับ 1 รวมถึงปัญหาทั้งหมดจะจบลงด้วยการนำนโยบายที่ดีไปปฏิบัติ" นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่เกิดการปรับเปลี่ยนแล้วทำให้เกิดคนบางกลุ่มในพรรคไม่พอใจ จนจะไปตั้งพรรคใหม่ว่า คงขาดใจตายก่อน เพราะรัฐบาลเดินมา 1 ปี ดังนั้นกว่าจะเลือกตั้งก็อีก 3 ปี และเชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะอยู่ครบ 4 ปี เนื่องจากกระแสความนิยมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันตนมองว่าพล.อ.ประยุทธ์นั้น เป็นนายกฯที่สามารถชี้แจงและตอบถึงปัญหาของประชาชนและส.ส.ในสภาได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นนายกฯ ที่ขยันที่สุดตั้งแต่ตนได้ทำงานการเมืองมา เมื่อถามว่า กรรมการบริหารพรรคที่ยื่นลาออกในความเป็นจริงนั้นมีมากกว่า 18 คน หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย เพราะกึ่งหนึ่งคือ 17 คน ดังนั้นแค่ 18 คน ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งถ้าออกเกือบหมด ก็ดูเหมือนไม่ให้กำลังใจกัน เพราะแต่ละคนที่บริหารมาก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ดังนั้นขออย่านำตัวเลขไปวิเคราะห์ เพราะผิดหมด นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิเคราะห์ว่า นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท จะขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ ว่า ก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของสมาชิกทั้งหมด ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุคระบุว่า ภายหลังจากที่มีการลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ได้ปรากฏทั้งข่าวลือ ข่าวปล่อย ถึงการจับขั้วรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีกระแสข่าวเกี่ยวพันถึงพรรคเพื่อไทย จึงขอชี้แจง ว่า พรรคยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการร่วมทำงานกับพรรคใดต้องตั้งอยู่บนความถูกต้อง ชอบธรรมของที่มา รวมถึงแนวนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินที่สอดคล้องกัน พรรคจึงขอปฏิเสธการเข้าสู่อำนาจที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและปฏิเสธการได้อำนาจมาด้วยวิธีการ ที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์เฉพาะตนของนักการเมือง ดังนั้นข่าวลือที่ปล่อยกันออกมา เพื่อหวังผล ดิสเครดิต พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นการกระทำที่มุ่งหวังในการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลกันเองโดยหวังอาศัยส่วนประ กอบและเงื่อนไขต่างๆ เป็นเครื่องมือ เอื้อประโยชน์แก่การจัดสรรอำนาจ ของพวกตนเอง จึงขอยืนยันว่าไม่ว่าใครผู้ใดจะอ้างเป็นตัวแทนพรรคไปเจรจาใดๆ ตราบใดที่ ตนยังทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ยืนยันจะไม่นำพาพรรคไปกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชนและหลักการประชาธิปไตยเป็นอันขาด นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยนะครับ แต่ถ้ามองเข้าไป แม้ว่าจะมีกระแสข่าวความขัดแย้ง มีแรงกระเพื่อมกันอยู่ แต่ไม่น่าจะถึงขั้นยกขบวนไปอยู่กับรัฐบาลผมยังให้น้ำหนักเรื่องจุดยืนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและโดยส่วนตัว ไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างงั้นได้ แต่ถ้าเกิดหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามพลังประชารัฐไปจริงๆ นี่ก็อีกโอลด์นอร์มอลนะครับ ไม่ใช่โควิด-19 เรียกว่า โรคห่าล้วนๆ ช่วงนี้โควิดยังไม่หมด บางคนอาจจะบอกว่าไม่ควรพูด ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงการตีความเรื่องสถานะของอดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือว่าเป็น ส.ส., สว. และข้าราชการการเมืองหรือไม่ หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ กรณีส.ว. มีมติเห็นชอบว่า นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ขัดรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพราะยังไม่พ้นตำแหน่งสนช.ไม่เกิน 10 ปี ว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส. และ สว. แต่สนช.ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาระหว่างช่วงปฏิวัติ อีกทั้งสนช.เป็นองค์ประกอบไม่เหมือนส.ส. และส.ว. เพราะอนุโลมให้ข้าราชการ ผบ.เหล่าทัพ ผู้พิพากษา มาเป็น สนช. ได้ และ ถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของส.ส. และส.ว. คือห้ามเป็นข้าราชการ อีกทั้งสนช. ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมืองด้วย เพราะตำแหน่งนี้คือ เลขาธิการนายกฯ เลขาฯประธานรัฐสภา เป็นต้น แต่สนช. คือเจ้าหน้าที่รัฐมาทำหน้าที่แทน ส.ส. และสว. เท่านั้น ส่วน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 4 มิ.ย. ว่า ส.ส.ของพรรคจำนวน 10 คน โดยกรอบอภิปรายจะเน้นถึงความจำเป็นของการที่หน่วยราชการต่างๆ โอนงบที่ใช้ประจำมาไว้ที่งบกลางจำนวนเกือบ 9 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะมีงบประมาณที่ควรโอนกลับไม่โอน หรืองบที่ไม่ควรโอนแต่กลับปล่อยให้มีการโอนมา รวมถึงต้องพิจารณาดูด้วยว่า ยอดงบที่โอนมาของแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงานมียอดเงินมากน้อยอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ มีบางกระทรวงควรตัดโอนงบได้มากกว่านี้ แต่ทำไมไม่ทำ คงต้องมีการซักถามตรวจสอบรายละเอียดกันในที่ประชุมสภาฯ