นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า การใช้เอทานอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการที่ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดพื้นที่เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด ส่งผลให้มีการใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น ปริมาณการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงในช่วงวันที่ 1-17 พ.ค.63 อยู่ที่ 3.49 ล้านลิตร/วัน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.57 ล้านลิตร/วัน สำหรับโรงงานเอทานอลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตรวม 6.10 ล้านลิตร/วัน แต่ผลิตจริงในเดือนเม.ย.63 อยู่ที่ 3.46 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมี.ค.63 ที่ 1.03 ล้านลิตร/วัน และปริมาณเอทานอลที่บริจาคและจำหน่ายเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในเดือนพ.ค.63 อยู่ที่ 1.97 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนก่อน 13.53 ล้านลิตร ด้านสถานการณ์ราคาเอทานอลอ้างอิงในเดือนมิ.ย.63 อยู่ที่ 23.28 บาท/ลิตรไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นราคาซื้อขายแบบระยะยาวของผู้ค้า ขณะที่การใช้ไบโอดีเซล (B100) ณ สิ้นเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 4.74 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมี.ค.63 ที่ 0.85 ล้านลิตร/วัน หรือลดลง 11% โดยปริมาณการผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ 4.55 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมี.ย.63 ที่ 5.7% ทั้งนี้จากมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานลดลง อย่างไรก็ตามการที่ภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ทำให้ตลาดยังเป็นของผู้ขายราคาจึงยังไม่ปรับลงในช่วงนี้ โดยราคาไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 1-7 มิ.ย.63อยู่ที่ 26.15 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.99 บาท/ลิตร ส่วนราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 25-29 พ.ค.63 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.40-3.70 บาท/กิโลกรัม โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 21.50-22.40 บาท/กิโลกรัม ปริมาณสต็อกคงเหลือหักน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทยไทย (กฟผ.) ณ สิ้นเดือนเม.ย.63 ประมาณ 282,511 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.63 ที่ 103,566 ตัน ส่วนสต็อกน้ำมันไบโอดีเซล ณ สิ้นเดือนเม.ย.63 อยู่ที่ 46,478 ตัน ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประมาณการผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนพ.ค.และมิ.ย.63 จะอยู่ที่ระดับ 1.67 และ 1.56 ล้านตันตามลำดับ ลดลง 10.83% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคหลังจากได้รับผลกระทบไวรัสโควิด-19 ในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) โดยกรมการค้าภายในอยู่ที่ประมาณ 70,000-85,000 ตัน/เดือน สาเหตุจากความต้องการน้ำมันบรรจุขวดในธุรกิจร้านอาหารที่มีแนวโน้มลดลงจากมาตรการปิดพื้นที่ของรัฐบาล