อาจารย์ทัศนศิลป์ ด้วยแรงบันดาลใจ พื้นที่แห่งความสุข คว้ารางวัลนำเสนอผลงานวิจัยระดับดีเด่น ภาคโปสเตอร์ ด้านนวัตกรรมและผลงานสร้างสรรค์ เวทีประชุมวิชาการระดับชาติ ม.ทักษิณ ผศ.บัณฑิตา วรศรี อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ตนได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัย ระดับดีเด่น ภาคโปสเตอร์ ด้านนวัตกรรมและผลงานสร้างสรรค์ จากผลงานวิจัยเรื่อง การวิจัยสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานภาพพิมพ์เทคนิคจารเข็ม จากแรงบันดาลใจเรื่องพื้นที่แห่งความสุข ในการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 30 ประจำปี 2563 และการประชุมวิชาการระดับชาติ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “วิจัยนวัตกรรม : การเปลี่ยนผ่านเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย” (Thailand-Driven Research & Innovation) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เรื่องวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์เทคนิคจารเข็มที่มีในท้องถิ่น จำแนกประเภท รายงานผลวัสดุอุปกรณ์ที่ได้จากกระบวนการค้นคว้าทดลอง และขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์เทคนิคจารเข็ม จากแรงบันดาลใจเรื่องพื้นที่แห่งความสุข ผลจากการวิจัยพบว่า แม่พิมพ์จากแผ่นอคริลิคสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ผลดี ทดแทนแผ่นทองแดงที่มีราคาแพงได้ และเข็มขูดที่หาได้ในท้องถิ่นสามารถนำมาใช้งานได้ใกล้เคียงกับเข็มขูดที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ทั้งยังสามารถเพิ่มองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวัสดุในการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์เทคนิคจารเข็มได้ในขั้นตอนของการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ ความหลากหลายจากวัสดุอุปกรณ์ที่ได้จากการทดลอง นำมาสร้างสรรค์ผลงานได้ดี สำหรับแนวคิดของการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ผศ.บัณฑิตากล่าวว่า ต้องการสื่อสารเรื่องความสุขพื้นฐานโดยนำเสนอพื้นที่ของบ้าน อันปรากฏภาพของสัตว์เลี้ยงคือแมว ซึ่งเป็นตัวแทนของตนเองที่อยู่ในบรรยากาศของบ้าน พื้นที่ที่เรามีความสุขได้อย่างเรียบง่ายและปลอดภัย สัตว์เลี้ยงอาจจะเสมือนตัวเจ้าของหรือผู้เลี้ยง และรูปวัตถุสิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อสารถึงความสุข ผลงานในแต่ละชิ้นสามารถนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบศิลป์ และทัศนธาตุทางศิลปะที่ปรากฏ มีความสอดคล้องกับเนื้อหาที่สร้างสรรค์ มีการคิดไตร่ตรองและควบคุมความรู้สึกในขณะสร้างสรรค์ผลงาน ชิ้นงานที่สำเร็จสมบูรณ์ทำให้เกิดความงามและคุณค่าที่ดีต่อจิตใจ นอกจากนั้น ผลงานสร้างสรรค์จากงานวิจัยที่จัดทำขึ้น ยังได้เผยแพร่โดยจัดแสดงผลงานในนิทรรศการ Space of Happiness ณ หอศิลป์ Muzium & Galery Tuanku Fauziah ,Universiti Sains ประเทศมาเลเซีย สามารถเป็นตัวอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์แก่ผู้ที่สนใจ และยังนำผลการวิจัยไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาภาพพิมพ์ได้อีกด้วย