นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศ ไทย แถลงข่าวผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนท์ถึงผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 กับการเกิดขึ้นของวิถีชีวิตแบบใหม่หรือ New Normal มีผลกระทบต่อธุรกิจและคนไทยว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ถือว่าค่อนข้างกระทบกับธุรกิจโดยรวม ภาพรวมธุรกิจทุกอุตสาหกรรมมีการชะลอตัว บริษัทวิจัยเนลสันมีรายงานว่า ทุกอุตสาหกรรมชะลอการใช้งบประมาณ ทำให้องค์กรที่มีรายได้จากการโฆษณาได้รับผลกระทบทุกองค์กร และทำให้เม็ดเงินโฆษณาลดลงในทุกสื่อ ทุกแบรนด์มีความระมัดระวังในการใช้งบประมาณมากขึ้น สื่อที่ซื้อมาจากแบรนด์ใหญ่ลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กหรือเอสเอ็มอีมีการปรับตัวที่เร็วมากและยังคงมีการการใช้สื่อและช่องทางออนไลน์ ไลน์คิดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป อย่างที่คนเรียกว่า New Normal จนกว่าจะมีวัคซีนโควิดอาจจะมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีอะไรอีกหรือไม่ เรายังไม่รู้ว่าจะมีโรคอะไรใหม่ๆออกมาอีก ซึ่งถ้ามีก็ต้องปรับตัว สำหรับไลน์ ได้ทุ่มเททรัพยากรในการปรับตัวค่อนข้างเร็ว ไลน์ปรับตัวโดยใช้แนวคิด Growth Mindset ไลน์ขอเสนอกลยุทธ์สำคัญ 3 ประการภายใต้แนวคิด Growth Mindset คือ 1.การตั้งเป้าหมายแบบก้าวกระโดด (Leapfrog Goal Set)ทำงานภายใต้เวลาเท่าเดิมด้วยความท้าทายที่มากขึ้น ตั้งเป้าหมายสูงขึ้นเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้พนักงานสามารถคิดนอกกรอบ สร้างการเติบโตและกระตุ้นให้เกิดการคิดใหม่ ทำใหม่ 2.สนับสนุนให้กำลังใจและมอบความเชื่อใจ (Empower & Trust) การตั้ง KPI เพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานระหว่างช่วง WFH เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรสนับสนุนให้กำลังและมอบความเชื่อใจแก่พนักงาน ให้เกิดสมดุลในการทำงานหรือ Work-life Balance เพื่อป้องกันความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน อาจจัดให้มีกิจกรรมให้คำปรึกษาความเครียด หรือกิจกรรมออกกำลังกายออนไลน์จากบ้าน นำไปสู่การทำงานที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 3.สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริง (Extreme Ownership) สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรแก่พนักงาน โดยความรู้สึกนี้จะผลักดันให้พนักงานมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายอย่างยิ่งยวด ตลอดจนพนักงานทุกคนจะคอยช่วยเหลือและทำงานร่วมกัน เพื่อนำองค์กรก้าวไปข้างหน้าภายใต้เป้าหมายเดียวกัน โดยผลจากโควิด-19 ทำให้ผู้ใช้งานได้ทดลองทำอะไรใหม่ การขายของออนไลน์ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งมี แต่มีการขายของผ่านไลน์ ทำให้ผู้ผลิตสินค้ารายเล็กหรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่หันมาใช้ช่องทางในการขายของออนไลน์และขายของผ่านไลน์โดยหลายธุรกิจแปลกใจที่ขายของออนไลน์ได้ดีกว่าขายหน้าร้าน ช่องทางการสื่อสารสนทนาด้วยการคุยกันบ่อยๆ ช่วยสร้างความเชื่อถือและมีความมั่นใจในแบรนด์ได้ ทำให้เกิดวงล้อของความไว้ใจ ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลพบสถิติที่ยืนยันว่าการใช้ช่องทางในการสื่อสารที่สนทนาระหว่างผู้ซื้อผู้ขายเป็นทางออกของการทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ โดยพบว่าคนไทยเชื่อถือข้อมูลจากการสื่อสารผ่านแชทมากว่าโซเชียลมีเดีย คนไทยจะเชื่อถือการสื่อสารผ่านโมบายน์ ร้อยละ 77 สื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นสนทนา ร้อยละ 65 และสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียร้อยละ 45 จะเห็นว่าแทบทุกธุรกิจแม้แต่ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่มีช่องทางในการขายของผ่านไลน์