ทุกๆ 1 วินาที มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ ทวิตข้อความประมาณ 6,000 ข้อความ ทุกๆ นาที มีวิดีดอใหม่ความยาว 300 ชั่วโมง ถูกอัพโหลดผ่านยูทิวบ์ และทุกๆ วัน 250 ล้านคน เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเฟซบุ๊ค ช่องทางต่างๆ ที่เราเรียกว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) เหล่านี้ เป็นตัวกลางใหม่ที่เชื่อมต่อคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน แบ่งปันสิ่งที่ชอบ บอกเล่าเรื่องหนังที่ดู พูดให้ทุกคนรู้ว่าเราทำอะไร มาวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ แต่นี่คือก้าวถัดไปของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร ที่จะต้องถูกศึกษาต่อไปในเจเนอเรชันหลังจากนี้ในแง่มุมต่างๆ มากมาย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะทราบดีว่าโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมหาศาล แต่ก็ยังอาจจะยังไม่มีการอธิบายผลกระทบ หรือพลังที่ชัดเจนของมัน ซึ่งวันนี้จะขอพูดถึงข้อมูลสถิติต่างๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นทรงพลังขนาดไหน เริ่มตั้งแต่ “เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์แซงหน้าเว็บไซต์ลามก” ถ้าใครเคยได้ยินที่ว่ากิจกรรมออนไลน์ที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนมากทำคือการท่องเว็บไซต์ลามก นั่นเป็นข้อมูลอดีตไปแล้ว “บิลล์ แทนเซอร์” ผู้เขียนหนังสือ “Click” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่คนหลายล้านคนทำในโลกออนไลน์ และเหตุผล ได้ใช้เวลานานในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เข้าเว็บไซต์จำนวน 10 ล้านคน และได้ข้อสรุปที่น่าสนใจพบว่า คนส่วนใหญ่กลัวการแปลกแยกจากสังคม กลัวการถูกปฏิเสธ และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เข้าเว็บไซต์ลามกลดลงเหลือร้อยละ 10 จากร้อยละ 20 สวนทางกับจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เข้าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเขาเชื่อว่า คนวัย 18 – 24 ปี ใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดีย จนไม่มีเวลาไปเข้าเว็บไซต์อย่างว่า คุณรู้หรือไม่ว่า “1ใน3 ของกรณีฟ้องหย่าในสหรัฐฯ มีเฟสบุคเกี่ยวข้อง” ในปี 2552 จากข้อมูลระบบสุขภาพของมหาวิทยาลัยโลโยลา บอกว่า 1 ใน 5 ของเคสฟ้องหย่าในสหรัฐฯ เกี่ยวกับเฟสบุค พอมาปี 2554 อัตราส่วนเพิ่มมาเป็น 1 ใน 3 อันที่จริงแล้ว อัยการบอกว่า ร้อยละ 81 ของเคสหย่าร้างในสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้หลักฐานจากโซเชียลมีเดียในกระบวนการฟ้องหย่า “ลิน ไอร์ตัน” หนึ่งในทนายความบอกว่า เฟสบุคเป็นพื้นที่กว้างขวางมาก และดีมากๆ ในการหาหลักฐานที่ใครสักคนซ่อนความลับ หรือซ่อนเรื่องชู้สาวเปิดเผยไม่ได้เอาไว้ เพราะตั้งแต่ผู้คนโพสต์เรื่องสำคัญๆ ของตัวเองลงในโลกออนไลน์ มันก็ไม่ได้เป็นความลับอีกต่อไป เช่นเดียวกับจูเลียน ฮอว์กเฮด จากสโตว์ แฟมิลี ลอว์ ที่เห็นด้วยว่า เฟสบุคเป็นสาเหตุให้การหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นจริงๆ ไม่เพียงแต่รูปถ่าย หรือการแสดงความคิดเห็นที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานได้แล้ว แต่การที่เฟสบุคเชื่อมคนหลายสิบล้านคนเข้าด้วยกัน นี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เปิดทางให้ผู้คนนอกใจคู่ของตนได้ง่ายขึ้น มาดูด้านดีกันบ้าง ใช่ว่าโซเชียลมีเดียจะร้ายเสียอย่างเดียว ในกรณีของการจับคนร้าย เปิดเผยตัวผู้กระทำผิด บางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในแพลตฟอร์มนั้น โดยไม่ต้องเปลืองทรัพยากรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือใช้เวลามากมายในการควานหาหลักฐาน ตัวอย่างกรณีของอลัน ฮรูบี วัย 19 ปี ในระหว่างการไต่สวนข้อหาฆาตกรรมพ่อแม่ และน้องสาวของเขา ผู้พิพากษาได้อนุญาตให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบข้มูลการใช้เฟสบุคของเจ้าตัว และพบว่าเขามีการโพสต์ข้อความจำนวนมากเกี่ยวกับความรู้สึกไม่ชอบครอบครัว และยังมีการพูดถึงเรื่องราวร้ายๆ มากมายที่จะทำ จนกระทั่งวันที่ครอบครัวตัดการสนับสนุนทางการเงิน เป็นเหตุให้ตำรวจเชื่อว่านี่เป็นสาเหตุไปสู่การฆาตรกรรม อีกกรณีหนึ่งคือ หนุ่มวัย 19 ปี ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนผู้หญิงหลายคน และถูกตัดสินจำคุกไปแล้วเป็นปี ก่อนที่จะมาเปิดเผยภายหลังว่าเป็นการสมคบคิดของฝ่ายหญิงที่ต้องการจะแก้แค้นเขา โดยมีการพบข้อความที่กลุ่มผู้หญิงคุยกันในห้องสนทนากลุ่มทำนองว่า “รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นแบบนี้ สนุกเป็นบ้า” อย่างไรก็ตาม การที่ทนายลูกความจะทำให้ผู้พิพากษาให้ความสนใจกับหลักฐานนี้ได้ เขายอมรับว่าต้องไตร่ตรองอยู่นานหลายสัปดาห์ กว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลบันทึกการสนทนาในเฟสบุค อย่างไรก็ตาม พลังด้านลบของโซเชียลมีเดียที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก็น่าห่วงไม่น้อย ผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ใช้เฟสบุคจำนวน 82 คน ในเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า ยิ่งระยะเวลานานขึ้นเท่าไหร่ที่พวกเขาอยู่ในเว็บไซต์ ระดับความสุขก็ยิ่งลดลง ขณะที่ระดับความหดหู่เพิ่มสูงขึ้น “อีธาน ครอสส์” หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า ไม่เพียงแค่เฟสบุคทำให้ระดับความหดหู่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเกิดอาการที่เรียกว่า “กลัวถูกลืม” อีกด้านหนึ่ง ยิ่งเราได้รู้ได้เห็นเพื่อนๆ เป็นร้อยๆของเราไปเที่ยว ทำกิจกรรม ชอปปิ้ง มีลูก ได้งานใหม่ สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มความอิจฉาของเราโดยไม่รู้ตัว สอดคล้องกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยโกเธอนเบิร์กที่ออกมาในลักษณะเดียวกัน คำแนะนำในเรื่องนี้คือ หยุดให้ความสนใจ และกังวลมากเกินไปกับิ่งที่คนอื่นโพสต์ในเฟสบุค แต่จงใช้ชีวิตต่อไป มีความสุขด้วยการทำอะไรที่คุณสนุก ประสบความสำเร็จในแบบของคุณเอง สังคมออนไลน์ไม่ควรจะเป็นอะไรที่คุณแสวงหาความสุขของชีวิตในนั้น “บริษัทโซเชียลมีเดียกำลังทำลายชนชั้นกลาง” จารอน ลานิเออร์ อดีตพนักงานของอาตารี คอลัมนิสต์ของนิตยสารดิสโคเวอร์ และผู้แต่งหนังสือ “Who Owns the future” ได้ยกประเด็นที่น่าสนใจอันหนึ่งของกบริษะทโกดักตอนขึ้นสู่จุดสูงสุดว่ามีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับพนักงานราว 1.4 แสนคน ขณะที่อินสตาแกรมตอนที่ถูกขายในราคา 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีพนักงานเพียง 13 คนเท่านั้น ลานิเออร์ชี้ให้เห็นถึงขนาด และมูลค่าของธุรกิจ ระหว่างธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีเก่า และเทคโนโลยีใหม่ ใครจะไปคิดว่าบริษัทที่มีพนักงาน 13 คน จะเป็นคู่แข่งของบริษัทที่มีพนักงานเป็นแสน แล้ววันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือยักษ์ใหญ่ล้มละลาย “ทวิตเตอร์ถูกแฮ็คทำหุ้นร่วงรูดในไม่กี่วินาที” เรากำลังพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2556 ที่ใครสักคนมีความคิดตลกแฮ็คบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ของสำนักข่าวเอพี ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่ 5 ล้านคน ว่ามีระเบิด 2 ลูกที่ทำเนียบขาว และประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้รับบาดเจ็บ จากนั้นในเวลาไม่กี่นาที ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 143 จุดทันที ในเวลาไม่กี่วินาทีร่วงลงประมาณร้อยละ 25 มากพอๆ กับที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยเกิดขึ้นในหนึ่งวันช่วงวิกฤติการเงินปี 2551 เลยทีเดียว