รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)โดยนายตนุภัทร รัตนพูลขัย รองเลขาธิการคปภ.ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ปฎิบัติงานแทนเลขาธิการคปภ.ได้ลงนามในหนังสือลงวันที่ 26 เมษายน 2560 ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) เพื่อให้ดำเนินการชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ หากบริษัทไม่ดำเนินการชำระภายในกำหนดดังกล่าว สำนักงานคปภ.จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป หลังจากคณะกรรมการฯได้ประชุมคณะกรรมการฯครั้งที่ 1/2560 ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2560 แล้ว ได้มีมติว่า ให้เปรียบเทียบปรับบริษัทวิริยะฯเป็นเงิน 125,000 บาท และให้เปรียบเทียบปรับความผิดต่อเนื่องรายวันๆละ 5,000 บาท จำนวน 207 วัน เป็นเงิน 1,035,000 บาท รวมเปรียบเทียบปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 1,160,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน) โดยคณะกรรมาการฯเห็นว่า บริษัทไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเป็นความผิดตามมาตรา 36 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่า เป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่ 27 กันยายน 2549 ข้อ 3 (5)มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2553) อนึ่ง คดีนี้สืบเนื่องจากทางคปภ.ได้อ้างว่า ได้ปรากฎหลักฐานว่า บริษัทวิริยะฯกระทำการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวยุพา บุญหวา กรณีรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขท1502 นครราชสีมา ซึ่งเอาประกันภัยกับบริษัทตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เลขที่ 02003-59301/กธ/002633-10 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 รถยนต์คันเอาประกันภัยได้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 1กบ294 นางสาวยุพาฯได้ยื่นหลักฐานเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนส่วนเกินจากกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นเงินจำนวน 7,790 บาท บริษัทได้นัดให้นางสาวยุพาฯมารับเช็คค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 3 มีนาคม 2559 แต่ปรากฎว่า ในวันดังกล่าวบริษัทไม่ส่งมอบเช็คเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวยุพาฯ เป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย การกระทำของบริษัทจึงเป็นความผิดตามมาตรา 36 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่า เป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่ 27 กันยายน 2549 ข้อ 3(5)มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2551) ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากวงการประกันภัย เปิดเผยว่า กรณีนี้คงขึ้นอยู่กับทางผู้บริหารวิริยะประกันภัยจะดำเนินการต่อสู้เรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งคงจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บรรดาบริษัทประกันหลายแห่งต่างพากันหวาดวิตกในการจ่ายสินไหมเป็นอย่างมาก เนื่องจากโทษค่าปรับประวิงการจ่ายสินไหมค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะค่าปรับรายวัน ซึ่งเกรงว่า อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งให้ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือบีบให้บริษัทประกันจ่ายสินไหมอย่างไม่สมเหตุสมผลก็ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นนักร้อง หรือกลุ่มคนรับจ้างทำเคลมที่ต่างเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากค่าสินไหมประกันเป็นอย่างมาก