ระบุการเรียนผ่านระบบทางไกล ช่วยยกระดับคุณภาพให้เทียบเท่าในเมืองได้-ลดปัญหาครูผู้สอนขาดแคลน พร้อมแนะเทคนิค 3 ข้อ ปรับตัวรับยุคนิวนอร์มอล น.ส.ขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ประเมินคุณภาพสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลที่ผ่านมาพบว่า โดยส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน และสื่อการเรียนการสอน แต่สถานศึกษาได้บูรณาการโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เพื่อให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจากการส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) พบว่า มีสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลสมัครใจเพื่อขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกมีจำนวนมากขึ้น และจากการลงพื้นที่ประเมินโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ผ่านมา พบว่า ผลประเมินส่วนใหญ่อยู่ระดับดีหลายแห่ง ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้โรงเรียนได้รับผลการประเมินในระดับดีนั้น มีดังนี้ 1.การบูรณาการการสอนผ่าน DLTV กับการเรียนปกติเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูประจำรายวิชา 2.ครูผู้สอนใกล้ชิดกับผู้เรียน ทำให้ทราบจุดอ่อนของผู้เรียน และสามารถเติมเต็มความรู้ได้เหมาะสม 3.สอนได้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน โดยเติมเต็มสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ และสิ่งที่ผู้เรียนถนัดได้ 4.นำบริบทของชุมชนมาเชื่อมโยงเข้ากับการเรียนสอน เป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม 5.นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านกระบวนการสอนจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ “อีกหนึ่งแนวทางที่ทำให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลประสบความสำเร็จในการเรียนการสอน คือการนำเอาระบบดีแอลทีวี (DLTV) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาบูรณาการกับการเรียนการสอนในบางรายวิชา เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ ถือว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ เพราะจากการเข้าไปประเมินพบว่าแนวทางการใช้ DLTV ในการสอนนั้นส่งผลดีต่อตัวผู้เรียนทั้งด้านการเรียนรู้ และด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้เรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมีระดับผลการเรียนดีเทียบเท่ากับโรงเรียนที่อยู่ในเมือง นอกจากนี้ ตัวผู้เรียนยังกระตือรือร้นตั้งคำถาม และสนใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนได้เรียนในบทเรียนที่เหมือนกับโรงเรียนในส่วนกลาง ดังนั้น รูปแบบการสอนในลักษณะนำเอา DLTV มาบูรณาการร่วมด้วยจึงถือว่าเป็นการลดความไม่เท่าเทียมในระบบการศึกษาแก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล” น.ส.ขนิษฐา กล่าวต่อว่า แนวทางดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้สถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลนำระบบออนไลน์ไปใช้แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร ซึ่งที่ผ่านมาได้ขยายระบบดังกล่าวไปยังโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งเพื่อแก้ปัญหา แต่การเรียนผ่านระบบ DLTVจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทางโรงเรียนจะต้องจัดครูผู้สอนเข้าไปดูแลผู้เรียนในระหว่างชั่วโมงเรียนร่วมด้วย นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ประเมินสถานศึกษาทั่วประเทศ สมศ. ยังเห็นว่าการเรียนการสอนไม่จำเป็นจะต้องยึดแนวทางปฏิบัติในลักษณะเดิม คือ ผู้เรียนจะต้องได้เรียนกับครูผู้สอน หรือการเรียนจากหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบการศึกษาค่อนข้างมาก สมศ. เห็นว่าหากสถานศึกษาใดที่สามารถปรับรูปแบบการเรียนการสอนได้เร็วจะได้เปรียบมากกว่า ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ดังนี้ ·ครูผู้สอนจะต้องมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพราะในปัจจุบันและอนาคตระบบเทคโนโลยี การเรียนออนไลน์ จะมีบทบาทกับระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น ดังนั้น หากครูเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะสามารถหาความรู้ใหม่ ๆ มาเติมเต็มให้ผู้เรียนได้ตลอดเวลา · สร้างทุกที่ให้เป็นห้องเรียน โดยเด็กต้องสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่จำกัดแค่ในห้องเรียนเท่านั้น ซึ่งที่ครูต้องดำเนินการคือสร้างกิจกรรมนอกห้องเรียนให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติ ส่งผลให้เด็กไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ ·  บทเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน การนำประเด็นหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเข้ามาผสมผสานในวิชา จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในแต่ละสถานการณ์ โดยหากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการเรียนเด็กจะมีความพร้อมในการรับมือ และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th