อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงตัวเมืองบุรีรัมย์ แห้งวิกฤต เหลือน้ำเพียง 1.4 หมื่น ลบ.ม. การประปาฯ ประกาศลดแรงดันจ่ายน้ำลง 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป วันนี้ (1 มิ.ย.) นายบรรจง เทพเกษตรกุล ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ ได้แจ้งประกาศ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ เรื่อง การจ่ายน้ำประปาโดยการปรับลดแรงดันน้ำลง 24 ชั่วโมง (ฉบับที่ 6) ระบุว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด โดยรวมเหลือเพียง 14,000 ลูกบาศก์เมตร ไม่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้เพียงพอ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ ร่วมกับโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้สูบน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย อำเภอกระสัง มาเพื่อผลิตน้ำประปาได้เพียง วันละ 20,000 ลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอต่อการใช้ทุกครัวเรือน ดังนั้น การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ จึงจำเป็นต้องปรับลดแรงดันการจ่ายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังผู้ใช้น้ำทุกท่านได้จัดหา เตรียมภาชนะสำรองน้ำไว้ใช้ และขอให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อการอุปโภค-บริโภค จนกว่าจะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา หรือภาวะฝนทิ้งช่วงสิ้นสุดลง จากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะมีผลกระทบกับผู้ใช้บริการทำให้ประปาไหลหรือถึงกับไม่ไหลเป็นเวลา และมีความขุ่นสูงมาก ซึ่งหากบริเวณใดพบท่อแตก-รั่ว กรุณาแจ้ง การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ เพื่อให้พนักงาน เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแก้ไข หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ หมายเลขโทรศัพท์ 0 4461 1597 , โทรสาร 0 4461 1644 , Facebook การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ . กลุ่มLine มั่นใจคุณภาพ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ และ PWA Contac Center โทร 1662 ในวันและเวลาราชการ จึงประกาศมาเพื่อทราบ และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ ประกาศ ณ 1 มิถุนายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยังไม่คลี่คลาย ถึงแม้ช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นมากนัก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ.เมืองบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาบุรีรัมย์ ให้บริการประชาชน ในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ห้วยราช กว่า 34,000 ครัวเรือน มีปริมาณลดต่ำลง ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก เหลือน้ำกักเก็บเพียง 8,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 0.03 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 26 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เหลือน้ำกักเก็บเพียง 6,000 ลบ.ม. หรือเฉลี่ย 0.02 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 30.852 ล้านลูกบาศก์เมตร