แบงก์ชาติยอมรับกังวลเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคจากสถานการณ์โควิด-19 ของไทยดีกว่าอีกหลายประเทศ อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1/63 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ พร้อมใช้มาตรการที่จำเป็น เพื่อไม่ให้การแข็งค่าของเงินบาทซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.พร้อมพิจารณาใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อไม่ให้การแข็งค่าของเงินบาทซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจในปัจจุบัน หลังจากในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ของไทยดีกว่าอีกหลายประเทศ และตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1/63 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่ง ธปท.กังวลว่าการแข็งค่าเร็วของเงินบาทอาจไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังเปราะบาง หลายภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างรุนแรง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 2 ในระยะต่อไป ขณะเดียวกันราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีส่วนสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่ง ธปท. จะตรวจสอบการทำธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินมาตรการต่างๆเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ส่วนแนวโน้มสถานการณ์โควิด 19 ในไทยและภูมิภาคที่ปรับดีขึ้น อาจทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนบางกลุ่มที่ใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่พึงประสงค์ โดยในช่วงต่อไป สถานการณ์โควิด 19 และสภาวะตลาดการเงินโลกจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับจะมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทางตรงของทั้งภาครัฐและเอกชนที่อาจทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวกลับทิศได้ในบางช่วง ธปท.จึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีธุรกรรมเงินตราต่างประเทศป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรับมือกับความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาททั้ง 2 ทิศทางในระยะข้างหน้า