ถก พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับวันสุดท้าย "ฝ่ายค้าน" รุมถล่มรัฐบาลสนุก "สุทิน" เตือนหมอ-พยาบาล อย่าตกเป็นเครื่องมือรัฐบาล เย้ยนายกฯคุมโรคระบาดสำเร็จ แต่ประเทศล้มเพราะพิษเศรษฐกิจ ชี้หากบริหารไม่ดี หนี้สาธารณะอาจพุ่งถึงร้อยละ 70 เชื่อ "ประยุทธ์" หนีก่อนปล่อยประเทศล้ม มั่นใจลากยาวพ.ร.ก.ฉุกเฉินเปิดช่องทุจริตแน่ ส่วน "ส.ส.ก้าวไกล" แฉยับ รัฐอุ้ม "4 ทุนใหญ่" ช่วยคนรวย ขณะที่ "60 ส.ส.พลังประชารัฐ" แห่ให้กำลัง "อุตตม-สนธิรัตน์-ธรรมนัส" รับอึดอัดพรรคฟัดกันเอง ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 31 พ.ค.63ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก. เงินกู้ 3ฉบับ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นวันที่ 5 ซึ่งเป็นสุดท้ายก่อนจะมีการลงมติโหวตในเวลา 15.00 น. ว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และค่อยข้างเงียบเหงา โดยมีรัฐ มนตรีเดินทางมาเข้าร่วมประชุม อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้าน ต่อมา เวลา 09.30 น. นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ ได้ทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยน.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตราสารหนี้ สามารถอุ้มคนรวยได้เกือบทั้งหมด แสดงให้เห็นความลำเอียงของรัฐบาลเลือกช่วยเหลือทุนใหญ่มาก กว่าประชาชนและเอสเอ็มอี จากการค้นข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้พบว่ามีบริษัทเข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือจากพ.ร.ก.ฉบับนี้ 125 บริษัท เมื่อเทียบกับวงเงิน 4แสนล้านบาท สามารถช่วยเหลือได้บริษัทละ 3,200ล้านบาท ขณะที่พ.ร.ก.ซอล์ฟโลนวงเงิน 5แสนล้าน มีเอสเอ็มอีเข้าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ 1.9ล้านราย หรือเฉลี่ยได้รับการช่วยเหลือ รายละ 263,158บาท ต่างกันถึง12,167เท่า บ่งบอกว่ารัฐบาลลำเอียงเข้าข้างทุนใหญ่ชัดเจน ที่สำคัญหน้าตาของทุนใหญ่ที่ 125บริษัทมีมูลค่าตราสารหนี้รวม 8.9แสนล้านบาท พบว่าทุนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นของทุนใหญ่จาก 4บริษัทได้แก่ เครือซีพี 1.8แสนล้านบาท เครือไทยเบฟฯ 9หมื่นล้านบาท เครือเอสซีจี 7.5 หมื่นล้านบาท และช.การช่าง 1.5หมื่นล้านบาท ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องอุ้มเศรษฐกิจ กลัวเศรษฐีไม่มีเงินใช้หนี้ ทุนใหญ่เหล่านี้ล้วนใกล้ชิดรัฐบาล อยากให้ทุนใหญ่ประกาศว่า จะไม่ใช้ผลประโยชน์จากกองทุนนี้ เพื่อให้กันวงเงิน 400,000 ล้านบาทของพ.ร.ก.ฉบับนี้ไปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์คือ คณะกรรมการชุดต่างๆในพ.ร.ก.เต็มไปด้วยคนกระทรวงการคลัง และธปท. เป็นการชงเองกินเอง รวมทั้งมีตัวแทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ร่วมเป็นคณะกรรมการลงทุนด้วย ทั้งที่กบข.เป็นผู้ลงทุนในตราสารหนี้รายใหญ่1.1 แสนล้านบาท ขอถามว่า มีอะไรรับประกันว่า จะไม่เกิดความลำเอียงในการเลือกตราสารหนี้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เมื่อกบข.ได้เปรียบมีข้อมูลวงใน จะเอาเปรียบหรือไม่ และผิดหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ ขณะเดียวกันมาตรา19 ของพ.ร.ก.ฉบับนี้ เปิดช่องให้รมว.คลังซื้อตราสารหนี้ในตลาดรอง โดยไม่จำกัดขอบเขตจำนวนเงิน เท่ากับตีเช็กเปล่าให้รมว.คลัง สั่งซื้อตราสารหนี้ตัวไหน จำนวนเท่าไรก็ได้ ทั้งที่ตราสารหนี้ในตลาดรองมีความเสี่ยงสูงกว่า และอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสามที่ให้รัฐบาลพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินการต่างๆ การทำเช่นนี้ให้อำนาจคนๆเดียวมากไป ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา กระทรวงการคลังต้องเข้าไปชดใช้สูงสุดถึง 4หมื่นล้านบาท เป็นการเฉือนเนื้อคนจนไปอุ้มคนรวยหรือไม่ ขณะที่ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พูดมาตลอดตั้งแต่จะไม่เป็นนายกฯ ไม่ยึดอำนาจ ไม่เล่นการเมืองต่อ แต่สุดท้ายแล้วก็สืบต่ออำนาจ รัฐบาลชุดนี้คิดแบบไม่เห็นหัวประชาชน รวบอำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว สร้างภาระหนี้สินให้ประชาชนชั่วลูกชั่วหลาน ตอนนี้เมืองไทยจะล้มละลาย วิธีการแก้มีอย่างเดียว โดยคนๆเดียวคือ นายกฯต้องออกไปและรับรองว่า หากไวรัสโควิดหาย จะทำให้เศรษฐกิจดี จากนั้น นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปว่า โรคโควิด-19 โจมตีเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยรัฐบาลประมาท หลงตัวเองว่าควบคุมได้ จึงมีความเสี่ยงหากมีการระบาดรอบ 2 พร้อมเตือนหมอและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำงานได้ดีแล้ว แต่อย่าตกไปเป็นเครื่องมือของรัฐบาล นายสุทิน ยังกล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเปรียบประเทศเหมือนคนป่วยโรคเบาหวาน โดยมีนายกฯเป็นหมอรักษา ให้ยาโดยการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดเมือง จนได้ผลน้ำตาลลดลง แต่กลับเกิดผลข้างเคียงที่ไตคือระบบเศรษฐกิจพังทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ถูกต้องแล้วที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเยียวยาให้คนรอดตายก่อน แต่ก็เกิดปัญหาเยียวยามาครอบคลุม ไม่ทันเวลาล้มเหลวและวันที่นายกฯเข้าสู่ตำแหน่งหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 36 แต่ปี64 หนี้สาธารณะ จะถึงร้อยละ 57 ของ GDP เป็นการกู้เงินจนเต็มโควตา ไม่เหลือให้รัฐบาลต่อไป ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเอาเงินไปฝากธนาคารไว้ถึง 800,000 ล้านบาทแล้ว "การออก พ.ร.ก.ซื้อหุ้นกู้จากภาคเอกชน การใช้สภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย สุดท้ายก็มาเป็นภาระหนี้ของประเทศ ซึ่งในประวัติศาสตร์ แบงค์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย เคยสร้างเคยมีการตั้งกองทุนไปซื้อหนี้เสียจากบริษัทเอกชนโดยรปส. จนต้องขายหนี้เสียราคาต่ำในที่สุดประเทศ เป็นหนี้ 8 แสนล้านบาทจนวันนี้ แล้ววันนี้จะไปซื้อหุ้นกู้เอกชน ถามว่ามีเหตุผลหรือไม่ ซึ่งมีเหตุผลว่าตลาดทุนพวกนี้มูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท แต่มองว่าหลายบริษัทใหญ่ๆ สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่จน มีสินทรัพย์เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ รายงานสํานักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่ามีทุนใหญ่ของไทยระดมเงินฝากร่วม 800,000 ล้านบาท แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กล่าวว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ทันเขา และกำลังจะสร้างตำนานล้มบนฟูกอีกรอบ แกล้งจน แกล้งไม่มีใช้ แกล้งล้มละลาย แล้วให้คนอื่นไปใช้หนี้แทน แล้วตัวเองก็หอบทรัพย์ออกไป จึงมองว่าแบงค์ชาติต้องสร้างความเชื่อมั่น ไม่จำเป็นอย่าลงไปทำเอง" นายสุทิน กล่าวว่า การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อยู่ที่เป้าหมายของรัฐบาล หากอยากให้วงล้อทางเศรษฐกิจหมุน ก็สามารถทำได้โดยการลงเม็ดเงินในระบบ แต่ถ้าวงล้อเศรษฐกิจไม่หมุน ทุกอย่างจะตีกลับ กลายเป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นทันที หนี้สาธารณะอาจสูงถึงร้อยละ 70 ของ GDP พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัจจัยโลกเปลี่ยนไป เป็นเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ตราบใดที่ยังไม่ปฏิรูปประเทศ ก็ยังมีเรื่องให้ต้องบ่นกันอยู่ การปฏิรูปที่สำคัญคือระบบราชการและจะลองรับ New Normal ได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ สุดท้ายจะเป็นการใช้ชาวบ้านคนจนเป็นที่ผ่านเงินเท่านั้น จึงมองว่ารัฐบาลต้องการแค่รอบหมุนทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นอะไรที่ใจร้ายมาก เพราะเงินกู้นี้สุดท้ายจะไม่ฟูและเป็นหนี้ และเชื่อว่า นายกฯจะหนีก่อนที่จะเศรษฐกิจจะล้มต่อหน้า และให้คนอื่นมาอุ้มศพต่อ ประเทศต้องรับกรรมรับผิดชอบ ชาวบ้าน 70 ล้านกว่าคน ต้องมาใช้หนี้ มาตรการทุกอย่างจะรีดเงินถึงชาวบ้านหมด สำหรับการตรวจสอบ นายสุทิน กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้มีปัญหา โดยคณะกรรมการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในการปฏิบัติจัดซื้อจัดจ้าง ไปแก้ระเบียบปกติ ว่าไม่ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างระบบ E-Bidding ไปตลอดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเหมือนการเปิดทางให้มีการทุจริต จึงควรให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาตรวจสอบ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังเงียบ มีเพียงเงื่อนไขให้รายงานต่อสภาฯ ปีละครั้งเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตปัญหาการใช้กองทุนประกันสังคม ที่ประชาชนฝากไว้ แต่ยังไม่สามรถนำเงินออกมาใช้ได้ ต่อมา ที่ประชุมได้ลงมติทีละฉบับ 1.พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ผลการลงมติเป็นดังนี้ จำนวนผู้เข้าประชุม 481 คน เห็นด้วย 274 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 207 2.พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ผลการลงมติเป็นดังนี้ จำนวนผู้เข้าประชุม 481 คน เห็นด้วย 275 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 205 ไม่ลงคะแนนเสียง 0 และ3.พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ผลการลงมติเป็นดังนี้ จำนวนผู้เข้าประชุม 482 คน เห็นด้วย 274 ไม่เห็นด้วย 195 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวของพรรคว่า เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่ม ส.ส.พปชร. ประมาณ 60 คน ได้นัดรวมตัวกันพบปะประชุมกันที่ห้อง 419 อาคารรัฐสภา โดยมีวาระให้กำลังใจ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. รวมถึงขอบคุณที่ทำหน้าที่ชี้แจงในสภา เรื่องพ.ร.ก.กู้เงิน ได้อย่างดี อย่างไรก็ตามในวงหารือ ได้มีการพูดถึงปัญหารอยร้าวภายในพรรค ซึ่งกลุ่มส.ส.มีความห่วงใย ที่สถานการณ์ในพรรคมีการช่วงชิงตำแหน่งกัน จนประชาชนที่เฝ้าดูรู้สึกไม่พอใจ ซึ่งกลุ่มส.ส.ที่เป็นตัวแทนจากประชาชนทุกภูมิภาคต้องรู้สึกอึดอัด เพราะต้องตอบคำถามเหล่านี้กับประชาชน จึงขอโอกาสนี้ให้กำลังใจนายอุตตม หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพปชร.และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ ในวงพูดคุย มีการสอบถามถึงบทบาทของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ว่าที่ผ่านมาการทำงานของประธานวิป ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เพราะทำหน้าที่ประสานงานกับพรรคร่วมอย่าง ไร ถึงมีเสียงแตกออกมา ในการที่จะตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงินฯและภายหลังประชุมพ.ร.ก.เงินกู้เสร็จสิ้น อยากเห็นทุกคนร่วมมือทำงานกับพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล และตั้งความหวังไว้ว่าพรรคพปชร.จะเดินหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นหลักเป็นเกณฑ์มากกว่านี้ ไม่เช่นนั่นประชาชนอานจะเสื่อมศรัทธาเราได้