นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้ชวยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า... พรก.กู้เงิน -มีคนถามว่า ฟังการอภิปรายพรก.กู้เงินฯ ในสภาของส.ส.หรือเปล่า ผมตอบว่าไม่ได้ฟังหรอก เพียงติดตามอ่านตามข่าวสั้นในสื่อออนไลน์บ้าง เขาถามต่อว่า ในฐานะอดีตส.ส.มีความเห็นอย่างไรบ้าง ผมว่า ในฐานะอดีตส.ส.ผมไม่มีความเห็นหรอก เมื่อเราไม่ได้เป็นส.ส.แล้วไปวิจารณ์เดี๋ยวท่านส.ส.เขาจะดุเอา ผู้ถามยังเซ้าซี้ถามอีกว่า แล้วในฐานะประชาชนไม่มีความเห็นอะไรเลยหรือ ผมตอบว่า ในฐานะประชาชนทุกคนมีสิทธิ์แสดงความเห็นได้ทั้งนั้นแหละ ผมเลยแสดงความเห็นในฐานะประชาชน ให้เขาฟังว่า 1.การกู้เงิน และ การใช้เงิน เป็นกม.สำคัญที่สุดที่ส.ส.ต้องให้ความสำคัญ มันเป็นหลักพื้นฐานของการกำเนิดระบอบประชาธิปไตยของโลก เริ่มตั้งแต่ประเทศอังกฤษ ที่ยึดอำนาจจากกษัตริย์ โดยมีหลักการว่า"เราไม่ยอมให้เก็บภาษี เว้นแต่ตัวแทนของเรายินยอม" และ "เราไม่ยอมให้ใช้ภาษีที่เก็บไป เว้นแต่ตัวแทนของเราอนุมัติ" กล่าวคือ ทั้งการเก็บและการใช้ภาษี เป็นกม.สำคัญที่ก่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นในโลกนี้ มิใช่กม.อื่นใดหรอก เพราะฉะนั้น หากผู้แทนราษฎรคนใด ให้คนอื่นกดบัตรลงคะแนนแทนกันในกม.งบประมาณ ในฐานะประชาชนผมเลยโกรธ และถือว่า ท่านละเมิดหลักการสำคัญที่สุดที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน 2.พรก.ทั้ง 3 ฉบับ ที่สำคัญที่สุด คือ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน โดยเฉพาะแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนมหาศาล ที่ไม่มีรายละเอียดว่าเอาไปทำอะไรบ้าง การเร่งรัดใช้เงิน 400,000 ล้านบาท ใครจะคิดโครงการอะไรได้ทันในเวลา 9วัน 10 วันล่ะครับ ด้วยเหตุนี้ การที่มีส.ส.บางท่าน บางพรรค แถลงขอให้สภาตั้งกรรมาธิการมาตรวจสอบการใช้เงิน ในฐานะประชาชน ผมจึงเห็นด้วย เพราะมันเป็นเงินของประชาชนทั้งนั้น มันจึงจะหนีหลักการ"ตรวจสอบ" ไปไม่ได้ ก็ต้องวัดใจท่านส.ส.ล่ะครับ ว่าท่านจะเอายังไง กับเงินของประชาชน? 3.ผมยังไม่เห็นมาตรการรองรับหลังจากแจกเงิน 5,000 บาท ตอนนี้จริงๆแล้ว เงินท่วมประเทศแล้วล่ะ ประชาชนได้เงินกันเยอะแล้ว แต่หลัง 3 เดือนนี้ เราเตรียมคนเข้าสู่โลกยุคใหม่หรือยัง หลัง 3 เดือนนี้ แหละของจริง จะได้รู้ว่า ใครจะอยู่ ใครจะไป -ในฐานะประชาชน ผมมีความเห็นอย่างนี้แหละ/