รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า... ป้องกัน COVID-19: หน้ากากแบบไหนดี? โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรากลุ้มใจกันมากเกี่ยวกับหน้ากาก เราประสบปัญหารุนแรงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กับเรื่อง"หน้ากากหาย" หายไปไหน...ไม่รู้ เพราะสุดท้ายดูจะเลิกรากันไปตามกาลเวลา จนถึงบัดนี้เราก็ยังพบว่า จะหาซื้อหน้ากากอนามัยก็ยากเย็นเหลือเกิน ราคาก็ตกอันละ 10 บาทขึ้นไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าการระบาดนั้นราคาที่สถานพยาบาลซื้อหาได้นั้นต่ำกว่านี้หลายเท่านัก คงเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน เมื่อต้องการเยอะแต่ผลิตได้น้อย หายาก ราคาก็สูง แต่หากพิจารณาเรื่องโรคระบาดเป็นภาวะคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ รัฐบาลควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันเหล่านี้ไว้ในระยะยาว เนื่องจากการระบาดของโรคต่างๆ ไม่ได้จบลงแค่ COVID-19 เอาล่ะ...ก่อนหน้านี้เรามีความรู้ว่า หน้ากากเจ๋งสุดที่พอจะซื้อหากันได้ในตลาดคงหนีไม่พ้น N95 รองลงมาคือพวกหน้ากากประเภท surgical mask หรือ medical mask เพราะทราบกันดีว่าหน้ากากเหล่านี้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เพื่อทำงานในโรงพยาบาล และมีคุณสมบัติกรองเชื้อโรคขนาดเล็กได้ดี แต่แน่นอนว่าของเหล่านั้นผลิตได้จำกัด ซื้อหายากเย็น และมีของปลอมเกลื่อนตลาด กลายเป็นขวนขวายหาซื้อของมาแพงๆ แต่โดนหลอกขายของปลอมที่ด้อยคุณภาพได้อย่างไม่รู้ตัว ล่าสุดทีมวิจัยโดย Konda A และคณะ ได้ทำการศึกษาความสามารถในการกรองของหน้ากากชนิดต่างๆ ตั้งแต่ N95, Surgical mask จนมาถึงหน้ากากผ้าที่ทำด้วยวัสดุหลากหลาย ทั้งผ้าฝ้าย ไหม ชิฟฟ่อน และใยสังเคราะห์ ดูความสามารถในการกรองอนุภาคขนาดเล็ก <300 นาโนเมตร และ >300 นาโนเมตร พบว่าความสามารถในการกรองของแต่ละวัสดุเมื่อเทียบกับหน้ากากทางการแพทย์แล้วไม่ได้แตกต่างกันเท่าไรนัก ความสำคัญของเรื่องนี้คือ ขอให้ใช้หน้ากากที่ฟิตกับใบหน้าเรา ไม่หลวมโครก ไม่มีช่องว่าง และหน้ากากผ้าทำเองนั้นขอให้ทำแบบหลายชั้น หากเราเช็คเรื่องจำนวนชั้นของหน้ากาก และความฟิตกับใบหน้า เราก็สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ด้วยความมั่นใจขึ้นว่าใช้แล้วได้ประโยชน์ ทำเองก็ได้ ราคาก็ไม่แพง หมดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากในยามที่โรคระบาดยังมีอยู่ในสังคม หน้าฝน...หน้ากากอาจเปียกชื้น ควรมีสำรองไว้ใช้มากกว่าหนึ่งอัน สลับกันไป ก่อนใช้โปรดเช็คให้ดีว่าหน้ากากแห้ง จะได้ไม่มีปัญหาเชื้อราเกาะสะสมที่หน้ากากครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat