นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์เผยว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ในปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.68 พันล้านคน อัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบและบุคคลใกล้เคียง สารเสพติดที่สำคัญคือ นิโคติน ซึ่งมีผลต่อสมองทำให้เกิดการเสพติดที่เรียกว่า โรคสมองติดยา และสารในบุหรี่อีกหลายชนิดก่อให้เกิดโรคมากกว่า 25 โรค เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทยและทั่วโลกประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ในผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า จะเกิดปอดอักเสบอย่างรุนแรงและเสียชีวิตได้ การสูบบุหรี่เป็นการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่หลุดเข้ามาที่ปอดแย่ลง เซลล์ปอดเกิดการอักเสบสะสมเรื้อรัง ทำให้สิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้น เมื่อมีการติดเชื้อปอดของผู้สูบบุหรี่จะเกิดการอักเสบที่รุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นการช่วยลดการอักเสบและยับยั้งการถูกทำลายของเซลล์ปอด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น นอกจากนี้การเลิกสูบบุหรี่ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ในขณะนี้ด้วยจึงได้มีการกำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง” #เลิกสูบลดเสี่ยง นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนีกล่าวเพิ่มเติม สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) มีภารกิจหลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดทุกประเภท ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่เป็นผู้สูบบุหรี่ ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th