ฉวยวิกฤตโควิด-19 เดินหน้าสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง...เครือข่ายประชาสังคมลุ่มน้ำโขงอีสาน นักวิชาการร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยทบทวนการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนสานะคามและเขื่อนน้ำโขงทุกแห่ง ย้ำหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนสูงเกินเยียวยา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานและองค์กรสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น 51 องค์กร และ 22 คน ทั้งนักวิชาการ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักพัฒนาองค์กรเอกชน และทนายความ ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลให้ทบทวนการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนสานะคามและเขื่อนน้ำโขงสายหลัก ชี้ว่าจะนำหายนะทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแม่น้ำโขง และเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงรอบด้านเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบจากแม่น้ำโขงสู่สาธารณะและให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น แถลงการณ์ระบุว่า ท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ทั่วทุกมุมโลก รัฐบาลแต่ละประเทศ รวมทั้งหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างขันแข็งด้วยความหวังที่จะรอดพันจากหายนะภัยที่มีต่อมวลมนุษยชาติในครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลลาวภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานจากประเทศจีน กลับฉวยโอกาสในสภาวะวิกฤติครั้งนี้ เร่งรัดผลักดันโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงโครงการล่าสุดคือ เขื่อนสานะคาม กำลังการผลิต 684 เมกะวัตต์ พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนอยู่ระหว่างแขวงไซยะบุรีและนครหลวงเวียงจันทร์ เมืองสานะคาม โดยอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงแค่ 2 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทร์ประมาณ 155 กิโลเมตร ประเทศลาวมีความคาดหวังว่า จะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการนี้ได้ในปี 2563 และจะแล้วเสร็จในปี 2571 ต้นทุนของการก่อสร้างโครงการมีมูลค่าประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งมาขายให้กับประเทศไทย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การพัฒนาในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนต่อชุมชนลุ่มน้ำโขงอีสานมามากกว่า 10 ปี ในแถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุอีกว่า ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจากเขื่อนน้ำโขง7ตอนบนในจีนและเขื่อนไซยะบุรีที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อ ปี 2562 ได้ส่งผลกระทบทางสังคม ที่เกี่ยวโยงกับฐานความมั่นคงทางอาหารของชุมชนแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้ง 4 ประเทศ ชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียอาชีพกับรายได้ และคนในหลายชุมชนต้องสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ กับพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ตลอดตามลำน้ำโขงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทำให้คนในชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล การผลักดันเขื่อนสานะคาม จึงยิ่งตอกย้ำผลกระทบให้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทางเครือข่ายจึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานภาครัฐของไทยต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนดังกล่าว และทบทวนการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนสานะคามซึ่งจะนำมาซึ่งหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และต้องเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงสู่สาธารณะ นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า ที่ตั้งของเขื่อนที่อยู่ห่างจากชายแดนไทย ลาวเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น ยิ่งเป็นเรื่องน่ากังวลต่อผลกระทบระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ทั้งปลา การสูญเสียตลิ่งและการใช้น้ำของชาวบ้านทั้งสองฝั่งโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอเชียงคาน ปากชม จ.เลย และอำเภอสังคม จ.หนองคาย ที่ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำโขงผลิตประปา 100 % ขณะที่รายงานผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนสานะคาม ระบุว่า ไม่มีผลกระทบอย่างเป็นนัยสำคัญต่อประเทศตอนล่าง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้และต้องตั้งคำถามต่อมาตรฐานการจัดทำรายงานการศึกษาดังกล่าว ประเด็นสำคัญที่ต้องเสนอกับรัฐบาลไทยคือ ด้านพลังงานที่ไทยไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำโขงอีกต่อไป เพราะปริมาณสำรองที่ล้นเกินเกือบ 40 % แล้ว การซื้อไฟเพิ่ม ยิ่งทำให้ภาระค่าไฟของประชาชนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น. ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ https://transbordernews.in.th/home/?p=25302&fbclid=IwAR20vyl1BloIaNNzZTE... ภัทรวินทร์ ลีปาน หนองคาย