ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “กว่าหนังสือจะเดินทางมาถึงชีวิตเราสักเล่มหนึ่ง...มันย่อมมีเส้นทางแห่งที่มาที่ไปอันเปรียบดั่งปริศนาของความรู้สึก ใกล้ไกลจากจิตสำนึก ปิดตายทางความรู้สึก หรือกระทั่งพลัดหลงมาอย่างคาดไม่ถึง...นั่นคือแบบแผนที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาลเวลา และรสนิยมที่ยากจะคาดเดาเป้าประสงค์ของความเป็นจริงได้..หลายๆขณะที่หนังสือเล่มหนึ่งได้ก่อเกิดเป็นความรักแห่งจิตวิญญาณขึ้น...มันติดตรึงตัวตนของใครต่อใครไปจนชั่วชีวิต และอีกหลายๆขณะมันก็เปรียบดั่งยาขมที่แช่นิ่งอยู่กับความเพิกเฉยและไม่ใส่ใจของใครหลายๆคน ...เหตุดั่งนี้ประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยของหนังสือจึงเป็นสิ่งที่น่าค้นคว้าและจดจำ...ท่ามกลางความยาวนานของศรัทธาที่เปลี่ยนผ่าน....ในบทวิถีที่เป็นองค์ความรู้ทางปัญญา หรือแม้แต่มันจะคือตัวแทนแห่งยุคสมัยแห่งการถูกทิ้งร้างทางอารมณ์ก็ตาม..บริบทแห่งนัยของหนังสือเป็นเช่นนี้...มันคือภาพวาดแห่งตัวอักษรที่สั่นไหวอยู่ในหลากมิติของความหวาดหวังที่เคลื่อนขยายและเป็นไปโดยแท้.....” “PARNASSUS ON WHEELS” (รถหนังสือเร่ของคนพเนจร)..ถือเป็นหนังสือที่เป็นเหมือนตัวแทนแห่งโครงสร้างทางประวัติศาสตร์แห่งการค้าหนังสือ ผ่านขบวนการสื่อสารทางวรรณกรรมที่ลึกซึ้ง งดงาม และ น่าสนใจยิ่ง...มันคือบันทึกแห่งการขายหนังสือในยุคสมัยของการใช้รถลากเป็นรถขายหนังสือเคลื่อนที่(BOOKMOBILE) ซึ่งได้รับความนิยมและแพร่หลายมากในช่วงปลาย คริสต์ศตวรรษที่ 19 จนล่วงเข้าสู่ต้นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20...อันเป็นยุคสมัยที่เหมือนหนึ่งว่า...หนังสือได้เดินทางไปเคาะประตูบ้านของคนทุกคนเพื่อนำพาทั้งองค์ความรู้และความรื่นรมย์เบิกบานจากความคิดฝันของหนังสือไปส่งให้...เป็นโอกาสสำคัญแห่งการเปิดโลกกว้างให้แก่ชีวิตของผู้อ่านทุกๆคนอย่างเท่าเทียม...มันคือยุคสมัยที่มีคุณค่ายิ่งในการรับรู้ต่อการก้าวย่างด้วยวุฒิปัญญาในชีวิต... “ลองจินตนาการว่าเราได้ท่องเวลากลับไปสู่ยุคสมัยที่ใครๆ ก็อ่านแต่หนังสือเล่ม มีพ่อค้าแม่ค้ามาเร่ขายหนังสือถึงประตูบ้าน...ช่วงเวลาแบบนั้นไม่ยากเกินหลับตานึก แต่คงยากเกินจะสัมผัสถึง” หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1917...เป็นหนังสือเล่มแรกในการเขียนของ “คริสโตเฟอร์ มอร์ลีย์”(1890-1957) นักเขียนชาวอเมริกันผู้ได้ชื่อว่า เป็นบุคคลแห่งอักษรศาสตร์และวรรณกรรมโดยแท้ เขาประสบความสำเร็จทั้งในฐานะนักเขียน นวนิยาย กวีนิพนธ์ บทละคร ความเรียง ทั้งยังเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ประจำวารสาร ผู้ก่อตั้ง และบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรม... จุดสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจสู่การเขียนหนังสือเล่มนี้ของ “คริสโตเฟอร์” นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง...เขาได้เน้นย้ำโดยการเขียนจดหมายถึง “เดวิด เกรย์สัน” นักเขียนผู้เขียนหนังสือ”การผจญภัยของความสบายใจ”ที่ได้กลายเป็นต้นเค้าอันลึกซึ้งของการสร้างสรรค์ “รถหนังสือเร่ของคนพเนจร” ออกมา “แม้ชื่อของผมจะปรากฏอยู่บนหน้าปก แต่ผู้เขียนตัวจริงของหนังสือเล่มนี้ คือ นางสาวเฮเลน แม็คกิลส์”(ปัจจุบัน คือ นางโรเจอร์ มิฟฟลิน) ผู้ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ผมฟัง ด้วยความมีชีวิตชีวาอย่างยากที่จะเลียนแบบได้... ผมจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเขียนว่า คุณนายมิฟฟลินนั้นไม่ค่อยจะเชี่ยวชาญในศิลปะแห่งการเป็นนักเขียนเท่าใดนัก...นี่คือหนังสือเล่มแรกของเธอและผมเองก็ยังนึกสงสัยอยู่ว่าเธอจะเขียนหนังสือเล่มอื่นอีกไหม...ในความคิดของผม เธอแทบไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่า...เรื่องราวของเธอนั้นได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนอันแสนจะตราตรึงใจของคุณมากมายขนาดไหน บนโต๊ะในบ้านของเธอที่ซาไบฟาร์ม เคยมีหนังสือเรื่อง “การผจญภัยในความสบายใจ”ที่ยับย่นจากการอ่านวางอยู่และผมเคยเห็นว่าหลังจากทำงานหนักในครัวมาทั้งวัน เธอหยิบมันขึ้นมาอ่านพร้อมกับหัวเราะเบาๆ และบอกว่าเรื่องราวของคุณกับแฮร์เรียตทำให้เธอนึกถึงตัวเองกับแอนดรูว์ เธอเคยบ่นพึมพำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับ”การผจญภัยในความไม่สบายใจ”และสงสัยว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงไม่พูดถึงมุมมองของแฮร์เลียตบ้างล่ะ ดังนั้น ผมคิดว่าเมื่อถึงคราวที่เธอได้ออกไปผจญภัยและนึกอยากจะเขียนมันลงบนกระดาษบ้าง เธอจึงดึงเอาบางสิ่งบางอย่างจากรูปแบบและเรื่องราวที่เป็นของคุณโดยชอบธรรมไปใช้โดยไม่ตั้งใจ...คุณคงจะไม่ปฏิเสธการกระทำที่เป็นเสมือนการสรรเสริญอันไร้เดียงสาเช่นนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามคุณแฮร์เลียต เกร์ยสัน ผู้มีคุณสมบัติเลอเลิศที่เราต่างชื่นชมมานานแสนนานจะต้องรู้สึกถึงความคล้ายคลึงระหว่างตัวเธอกับคุณนายมิฟฟลินเป็นแน่” นี่คือปฐมบทแห่งประพันธกรรมที่เชื่อมโยงและคาบเกี่ยวกันอย่างลึกซึ้ง ก่อนที่เนื้อในของสรรพสิ่งแห่งเรื่องราวทั้งหมด จะถูกนำมาขยาย ปรุงแต่ง และ ตีความใหม่ จนกลายเป็นหนังสืออันมีค่าต่อความหมายแห่งความทรงจำในความประทับใจของผู้รักหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในที่สุด.. ....จากชีวิตที่แสนจะธรรมดาและน่าเบื่อหน่ายของสาวใหญ่ร่างอ้วน “เฮเลน แม็คกิลล์”...ผู้เหนื่อยหน่ายและไม่ค่อยจะมีความสุขกับการเป็นแม่บ้าน ที่วันๆชีวิตมีหน้าที่คอยจัดการกับมื้ออาหารและดูแลใส่ใจต่อ “แอนดรูว์” พี่ชายซึ่งเป็นนักเขียนของเธอ....แต่เดิมเธอเคยมีความสุขกับชีวิตง่ายๆของความเป็นเกษตรกรชาวไร่ร่วมกับพี่ชาย ดูแลเรือกสวนไร่นาในชนบทที่เป็นบ้านเกิด...ทั้งคู่ขยันขันแข็งต่อการทำงานมาโดยตลอด....จวบจนกระทั่งแอนดรูว์ ผู้รักในการเขียนหนังสือ ซึ่งมีทั้งความสามารถและพรสวรรค์ได้มีโอกาสเปิดรับชีวิตแห่งความสำเร็จ...เขากลายเป็นนักเขียนอาชีพอย่างเต็มตัว...และต้องละจากการเป็นชาวไร่ ...ทิ้งให้เฮเลนต้องแบกรับหน้าที่รับผิดชอบของครอบครัวนี้แต่เพียงผู้เดียว....การต้องอยู่จับเจ่าทำงานบ้านโดยลำพัง ขณะที่พี่ชายออกเดินทางจากบ้านไปแสวงหาวัตถุดิบในการเขียน ณ ที่ต่างๆเป็นเวลานานๆ..มีผลต่อความรู้สึกในเชิงแปลกแยกและไม่มีความสุขกับสถานะของตัวเองอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันในแต่ละวันของเฮเลน.. จวบจนกระทั่งในวันหนึ่ง..สิ่งที่เปรียบดั่งอัศจรรย์ของชีวิตก็ได้เกิดขึ้นกับตัวเธอ...เมื่อจู่ๆได้มีรถหนังสือเร่คันโตมาจอดที่หน้าบ้าน..และนายมิฟฟลิน..ผู้เป็นเจ้าของรถคันนั้นได้เสนอขายต่อเธอทั้งรถและหนังสือรวมทั้งหมด...รวมทั้งสัตว์ที่ร่วมเดินทางมาด้วยซึ่งก็คือม้าที่เป็นตัวลากจูงและหมาสัตว์เลี้ยงที่ได้ร่วมเดินทางมาด้วย..จริงๆแล้วมิฟฟลินเขาปรารถนาที่จะขายให้แก่แอนดรูว์ ในฐานะที่เขาเป็นแฟนตัวยงในงานเขียนของเขาซึ่งได้ก้าวขึ้นสู่สถานะของการเป็นนักเขียนใหญ่ผู้มีชื่อเสียงไปแล้ว..มิฟฟลินต้องการจะวางมือจากอาชีพการเร่ขายหนังสือ เพื่อที่จะได้มีโอกาสพักผ่อน และหวังที่จะเป็นนักเขียนเพื่อเขียนหนังสือเองบ้าง แต่เฮเลนกลับไม่พอใจข้อเสนอของพ่อค้ารถหนังสือเร่...เธอเกรงว่าข้อเสนอของเขาจะมีผลทำให้พี่ชายหลงใหลกับอาชีพงานเขียนหนังสือ และตกอยู่ในบ่วงแห่งความสำเร็จของวรรณกรรม จนไม่คิดจะหวนกลับมาเป็นชาวไร่อันเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวอีก...เหตุนี้เธอจึงตัดสินใจที่จะป้องกันอุบัติการณ์ดังกล่าวด้วยการลงทุนซื้อรถหนังสือเร่คันนั้นด้วยเงินเก็บของเธอเอง ด้วยหวังจะพรากชีวิตของพี่ชายให้ไกลห่างจากมัน เพื่อหวังจะรักษารากเหง้าแห่งอาชีพของครอบครัวเอาไว้...แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าการตัดสินใจครั้งใหญ่ของเธอในครั้งนี้...ได้แปรเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล...และคุณค่าแห่งการกระทำของเธอก็ได้สร้างเงื่อนไขแห่งความสุขขึ้นมาต่อยุคสมัยที่หนังสือเปรียบดั่งรอยต่อที่โยงใยลมหายใจของชีวิตสู่การรับรู้และเรียนรู้อันยิ่งใหญ่โดยแท้... “ชีวิตที่ดีมีส่วนประกอบสามอย่าง...ได้แก่ การเรียนรู้ การเลี้ยงชีพ และความปรารถนา คนเราควรเรียนรู้ในขณะที่มุ่งหน้าไป เขาต้องหาเลี้ยงทั้งตนเองและผู้อื่น และเขาต้องมีความปรารถนาด้วยเช่นกัน นั่นคือปรารถนาที่จะรู้ในสิ่งที่ไม่รู้...” “เฮเลน”ได้พบกับส่วนของการเรียนรู้มากมาย ผ่านประสบการณ์ของหนังสือ ผ่านกระบวนวิธีคิดจากนักคิดนักเขียนมากมายที่สื่อผ่านทั้งหนังสือและบทบันทึกของพวกเขาแต่ละคน มันคือความลึกซึ้งในการค้นพบความหมายของชีวิต มันคือคุณค่าในแก่นแท้แห่งจิตวิญญาณที่ปรากฏอยู่ในรอยร่างของนักเขียนในแต่ละคนที่ถูกตีความ เพ่งพินิจ และวิเคราะห์ออกมาในเชิงชีวิตอย่างถ้วนถี่สมบูรณ์. “พวกเราช่างเป็นเหยื่อที่น่าขันของความต้องการ ที่ขัดแย้ง..ถ้าคนเราปักหลักอยู่ที่หนึ่ง เขาก็ร่ำร้องอยากออกท่องเที่ยวไปแต่พอได้ท่องไป เขาก็ปรารถนาจะอยู่บ้าน และความพึงพอใจก็ช่างโหดร้ายเหลือเกิน สิ่งที่ยิ่งใหญ่ทั้งหมดในชีวิตนั้นเกิดจากพวกคนที่รู้สึกไม่พอใจ...” บริบททางความคิดอันลึกซึ้งนี้...เป็นสิ่งที่เฮเลนได้ค้นพบทีละน้อยทีละส่วนจนขยายกว้างขึ้นหลังจากที่เธอได้เป็นเจ้าของรถหนังสือเร่ต่อจากมิฟฟลินแล้ว...เธอได้เล่าจุดสำคัญในชีวิตจุดหนึ่งให้ได้รับฟังว่า..เธอบังเอิญเอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋าใบเล็กๆข้างๆที่นั่งซึ่งมิฟฟลินเก็บสิ่งละอันพันละน้อยเอาไว้...จริงๆแล้วเธอต้องการหยิบนามบัตรที่มีบทกวีของเขาออกมาดูอีกครั้ง...แต่ก็ล้วงไปเจอสมุดจดเล่มเล็กเก่าๆ ประหลาดๆ ซึ่งเขาคงลืมเอาไว้...บนปกมีข้อความเขียนด้วยหมึกว่า”ความคิดเกี่ยวกับความไม่พอใจ ณ ขณะนี้”...ชื่อเรื่องดูคุ้นเคยอยู่หน่อยๆ “ฉันเหมือนจะนึกถึงอะไรบางอย่างตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนขึ้นมา...นั่นไง! แน่นอนว่า..ถ้าฉันเป็นคนที่น่าเคารพนับถือก็คงไม่เปิดอ่านเนื้อหาข้างในหรอก แต่ด้วยความคิดเข้าข้างตัวเองที่ออกจะเจ้าเล่ห์หน่อยๆ ฉันนึกขึ้นมาได้ว่าตัวเองซื้อพาร์นาซัสคันนี้และของทุกอย่างด้านในแล้ว...” โดยส่วนตัว...ผมประทับใจกลวิธีในการประพันธ์หนังสือเล่มนี้ของ”คริสโตเฟอร์ มอร์ลีย์”..มันมีเชิงชั้นและกลไกในการเล่าเรื่องทั้งทางความคิดและปฏิกิริยาต่อหนังสืออย่างชวนติดตามและใคร่ครวญยิ่ง...เป็นความสลับซับซ้อนที่มีแง่มุมที่คลี่คลายและตอกย้ำความตระหนักรู้ต่อผู้อ่านอย่างมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ระคนกัน “พระเจ้า!...เมื่อคุณขายหนังสือให้ใครสักคน คุณไม่ได้แค่ขายกระดาษหนักสิบสองออนซ์กับหมึกและกาวให้เขา...แต่คุณขายชีวิตใหม่ที่เขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนให้กับเขาด้วย...ความรักและมิตรภาพและอารมณ์ขันและเรือที่ล่องไปในทะเลยามค่ำคืน..ในหนังสือมีทั้งสวรรค์และโลก ..ผมหมายถึงหนังสือจริงๆ..ให้ตายสิ..ถ้าผมเป็นพ่อค้าขนมปัง หรือพ่อค้าเนื้อ หรือพ่อค้าไม้กวาดหาบเร่..ผู้คนคงจะพากันวิ่งมาที่ประตูตอนที่ผมผ่านทางไป..รอคอยที่จะซื้อของของผม...แต่นี่ผมเดินทางไปพร้อมกับหนทางไถ่บาปอันเป็นนิรันดร์ ..หนทางไถ่บาปสำหรับจิตใจดวงน้อยที่ชะงักงันของพวกเขา..แต่มันกลับเป็นเรื่องยากที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจได้...นั่นแหละครับที่ทำให้มันเป็นงานที่คุ้มค่าที่จะทำ...ผมกำลังทำบางสิ่งที่ไม่มีใครเคยคิดฝันถึง ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองนาซาเร็ธ รัฐเมน ไปจนถึงเมืองวัลลาวัลลา รัฐวอชิงตัน มันคือสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่..แต่สาบานต่อกระดูกของวิทแมน*..(วอลท์ วิทแมน กวีชาวอเมริกัน)..เลยครับว่า.นั่นคือสิ่งที่ประเทศนี้ต้องการมีหนังสือให้มากขึ้น” ในยุคสมัยที่โลกก้าวสู่ยุคของเหตุผลและความสมจริงแห่งธรรมชาตินิยม เชื่อมต่อเข้ากับเอกภาพในความเป็นอิสรภาพแห่งตัวตนทั้งในเชิงสัญลักษณ์...ประสบการณ์แห่งการบีบคั้นภายใน รวมทั้งแก่นแท้แห่งภาวะแสดงถึงเบื้องลึกของความเป็นตัวตนอันแท้จริงออกมา...บทบาทของหนังสือแต่ละเล่มในยุคนั้นจึงเปรียบดั่งกระจกเงาแห่งการส่องทางชีวิตที่เคยพร่ามัว และ ถูกกดทับด้วยทรรศนะเชิงอคติจากแรงกดดันทางการเมืองการปกครองแห่งยุคสมัย...ภาพสะท้อนนัยชีวิตที่ปรากฏผ่านผลงานเขียนของนักเขียนแต่ละคนในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะถูกสรรค์สร้างมาด้วยรูปลักษณ์ของผลงานประเภทใด...ล้วนมีความจริงและความหมายเป็นนัยสำคัญอยู่เพื่อการก้าวย่างทางปัญญาอันมั่นคงและไม่เคยลืมเลือน “ทันใดนั้น ฉันก็ได้รู้จักกับความน่ากลัวของความโดดเดี่ยวเป็นครั้งแรก ฉันนึกถึงสมุดจดของพ่อตัวจิ๋วผู้น่าสงสารที่ฉันเคยอ่าน ฉันคิดถึงความเป็นคนกล้าหาญและเป็นมิตรของเขา...คิดถึงหมวกสักหลาดใบเล็ก บ๊องๆ กระดุมเสื้อคลุมที่หลุดหายไป..สำหรับฉันแล้ว สวรรค์ไม่ได้หมายถึงสิ่งอื่นใดเลยนอกจากการได้เดินทางท่องไปตามถนนในชนบทบนพาร์นาซัส...นานเท่าไหร่กันนะ ที่เขานำพาความงดงามแห่งอุดมคติ มาสู่ชีวิตที่น่าเบื่อและจำเจของฉัน และตอนนี้ฉันจะต้องสูญเสียเขาไปตลอดกาลอย่างนั้นหรือ...แอนดรูว์และไร่ดูจะเลือนรางและห่างไกลออกไป ฉันเป็นผู้หญิงแก่บ้านๆ เหงาเจียนตายและอ่อนแอด้วยความรู้สึกสับสนนั้น..ฉันเดินออกไปนอกหมู่บ้านและร้องไห้” “ไอริสา ชั้นศิริ”...ถ่ายทอดสาระอันลึกซึ้งและดีงามของหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างเนียนนุ่มทางคามรู้สึก...และด้วยความเข้าใจอันหยั่งลึกต่อรายละเอียดเฉพาะ ในโลกหนังสือได้อย่างน่าชื่นชมและมีคุณค่า... *แน่นอนว่า...ถ้าคุณเป็นคนรักหนังสือ...และได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ในยามที่โลกแห่งหนังสือ ณ ปัจจุบัน ไกลห่างออกไปจากจิตสำนึกและมโนทัศน์แห่งการสัมผัสรู้ของผู้คนออกไปทุกทีเยี่ยงยามนี้ คุณอาจจะร้องไห้ให้กับความเปล่าดายที่ตกอยู่ในความเวิ้งว้างอันเดี่ยวแห่งการรับรู้นั้น...กระบวนทัศน์อันมากหลายจากนักเขียนของโลกในฐานะผู้ส่องสะท้อนโลกไหลบ่าอย่างท่วมท้นด้วยแง่คิดทางปัญญาอยู่ในหนังสือเล่มนี้...เพียงแต่ว่ามันจะยังสามารถสร้างความประทับใจ กินใจ และ จับใจ ต่อผู้คนวันนี้ได้ไหม?...นั่นคือคำถามแห่งความไม่แน่ใจ..ที่อาจจะทำให้เราเดินออกไปจากตัวตนและร้องไห้ออกมา...อย่างไร้หวัง...ดั่งนั้น! “รถเร่พาร์นาซัส ของโรเจอร์ มิฟฟลิน/สหายแสนดีในเกวียนฉันนี้/หนังสือมีมากทั้งเก่าใหม่/หนังสือมิตรเราแน่แท้กว่าใคร/ขนมาในเกวียนเที่ยวท่องล่องไป/หนังสือหลากหลายสำหรับทุกคน”