อ.ส.ค. พร้อมรับมือส่งมอบนมโรงเรียนช่วงวิกฤติโควิด-19 คุมเข้มกระบวนการผลิตงัดมาตรการเข้มข้น ควบคุมคุณภาพการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ การขนส่งจากโรงงานถึงบ้านนักเรียน เพื่อให้เด็กไทยทุกคนดื่มนมคุณภาพปลอดภัย พร้อมหนุนเกษตรกรโคนมไทยมีอาชีพมั่นคง นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่าตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.63 มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีแนวทางบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียน ดังนี้กรณีเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ให้นักเรียนบริโภคนมชนิดยูเอชที ตามโครงการนมโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2563 กรณีที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติในวันเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หรือกรณีจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือกรณีการสลับวันมาเรียน ให้นักเรียนบริโภคนมชนิดยูเอชที ตามโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกตินั้น ในส่วนบทบาทหน้าที่ของอ.ส.ค.ได้จัดทำสัญญาการมอบอำนาจระหว่างอ.ส.ค. กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2562 จำนวน 75 รายแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2563ที่ผ่านมา เพื่อมอบอำนาจให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับสิทธิจำหน่ายเข้าไปทำสัญญาจัดส่งนมกับท้องถิ่นและโรงเรียน จึงทำให้สามารถจัดส่งมอบนมให้โรงเรียนได้ทันวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกและจะดำเนินการส่งมอบไปจนถึง 30 มิถุนายน 2563 สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการนมโรงเรียน ได้รับจัดสรรสิทธิ์ในการจำหน่ายแก่นักเรียนจำนวนประมาณ 7,100,000 หน่วย ในราคากลาง นมพาสเจอร์ไรส์ 6.58 บาท/ถุง (จำนวน 200วัน) ส่วนนมยู.เอช.ที 7.82 บาท/กล่อง (จำนวน 60วัน) แต่ในช่วงที่นักเรียนยังเรียนอยู่ที่บ้าน จะรับเป็นนมกล่องอย่างเดียว เพราะว่าการจัดส่งนมพาสเจอร์ไรซ์จะดำเนินการลำบากเนื่องจากว่ายังต้องใช้หลักในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทาง อบต.ได้ประสานกับโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนนัดผู้ปกครองมารับนมที่โรงเรียนแทน อ.ส.ค. ในฐานะผู้ประกอบการรายหนึ่งภายใต้โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้รับสิทธิ์จำหน่ายประมาณ 700,000 หน่วย ได้เตรียมความพร้อมทุกด้านในการผลิตนมโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ตามนโยบายของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนและรัฐบาลอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งได้แจ้งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทุกราย เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 โดยเคร่งครัดด้วยเช่นกัน เพื่อให้นักเรียนต้องได้ดื่มนมที่มีคุณภาพครบทุกคน โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทางตั้งแต่โรงงานการผลิต มาตรฐานการขนส่งจนถึงโรงเรียน โดยในระบบการผลิต ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงโคนมต้องได้มาตรฐานระดับ GAP เพื่อส่งเสริมสุขภาพโคนมให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อผลิตน้ำนมให้ได้คุณภาพดี ส่วนโรงงานผลิตนมต้องได้มาตรฐานตาม GMP ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และระบบการขนส่งนมก็ต้องได้คุณภาพมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย ซึ่งโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพพลามัยของเด็กไทยให้แข็งแรง และยังช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีอาชีพที่ยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย อ.ส.ค.ได้แจ้งผู้ประกอบการทุกรายที่เข้าร่วมโครงการฯให้ความสำคัญในการควบคุม ติดตามกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำจนถึงมือนักเรียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2563 อย่างเคร่งครัด โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ทำหน้าที่ในการสุ่มตรวจผู้ประกอบการผลิตนมเพื่อให้การผลิตนมโรงเรียนมีคุณภาพ ใช้น้ำนมโคจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบหรือฟาร์มโคนมที่มีจำนวนเซลล์โซมาติก(Somatic Cell Count:SCC) ไม่เกิน500,000เซลล์/ลบ.ซม. โดยตรวจสอบน้ำนมโคก่อนผลิตที่หน้าโรงงานผลิตซึ่งดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์อย่างน้อย 2 ครั้ง/ภาคเรียน และต้องใช้น้ำนมที่มีปริมาณเนื้อนมรวม (Total Solids:TS) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12.25 จากค่าไขมัน (Fat) รวมกับเนื้อนมไม่รวมไขมัน (Solids Not Fat:SNF) ในส่วนของกรณีเรื่องของป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกโรงงานจะมีมาตรการเข้มข้น มีการตรวจวัดอุณหภูมิ พนักงานก่อนเข้าโรงงาน มีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ เพื่อให้ตัวพนักงานหรือตัวผู้ประกอบการเองทุกคนพ้นจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคหรือนักเรียนสบายใจได้ว่าในเรื่องของการผลิตของอุตสาหกรรมนมปลอดภัย “สำหรับนมโรงเรียนของอ.ส.ค.ทุกกล่องทุกถุงเป็นนมที่ผลิตจากน้ำนมโคสดแท้100% จากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ผ่านเกณฑ์และวิธีการผลิตที่ดี(GMP) ที่รับรองจากกระทรวงสาธารณสุขและฟาร์มโคนมที่ผ่านเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม(GAP) ที่รับรองจากกรมปศุสัตว์ ตามข้อตกลงการซื้อขายน้ำนมโค(MOU)จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยน้ำนมโคมีคุณภาพมาตรฐาน ค่าเฉลี่ยของผลการตรวจโซมาติกเซลล์ (Somatic Cell Count:SCC) ไม่เกิน 500,000 เซลล์/ลบซม. และมีปริมาณเนื้อนมทั้งหมด (Total Solids :TS ) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12.25”นายสุชาติ กล่าว