ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ในทางธุรกิจการแข่งขันดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งทำให้ธุรกิจทั้งหลายมีความเข้มแข็งในการพัฒนาตนเอง เพื่อการแข่งขัน แต่ก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจที่จะพยายามอาศัยอำนาจทางการเมืองในการสร้างระบบการผูกขาด อันทำให้สามารถกอบโกยเงินตราได้อย่างมหาศาล ด้านเทคโนโยลีที่ล้ำยุค ก็เป็นทางหนึ่งที่สามารถสร้างอำนาจการผูกขาดอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะระบบการสื่อสารออนไลน์ที่สหรัฐฯได้ผูกขาดมาเป็นเวลานานตั้งแต่ 2G มาจนถึง 4G เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่มีการติดต่อสื่อสารผ่านระบบนี้ ผู้ใช้จะต้องจ่ายเงินไม่ทางตรงก็ทางอ้อม รวมทั้งการจ่ายค่าโฆษณาโดยสื่อออนไลน์ กูเกิล และเฟซบุ๊ค จึงทำรายได้มหาศาลทำให้เจ้าของกลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วข้ามคืน แต่ระบบนี้กำลังถูกท้าทายโดยเทคโนโลยีจากจีน คือ หัวเหว่ย ที่พัฒนาระบบอันจะทำให้การผูกขาดนี้ต้องพังทลายลง ดังนั้นจึงต้องมีการบ่อนทำลายโดยอาศัยอำนาจรัฐ ตามมาด้วยการกล่าวหาว่ามีการขโมยเทคโนโลยีของหัวเหว่ย จริงหรือไม่ก็ยากพิสูจน์ ส่วนการดำเนินการทางศาลก็ต้องว่ากันไป ในด้านสหรัฐฯ อิลอน มัสก์ ก็กำลังมีแผนซึ่งมีการเตรียมการที่จะยิงดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศนับหมื่นลูก เพื่อสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยไม่ต้องใช้เสาส่งสัญญาณในบางพื้นที่อีกต่อไป ที่น่าคิดและน่ากังวลก็คือ ด้วยระบบสื่อสารและระบบติดตามสัญญาณ ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้านี้ ต่อไปใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรก็จะถูกตรวจสอบติดตาม ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มทำแล้วอย่างจีน และหลายประเทศก็อาศัยเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดำเนินการไปบ้าง และคงจะไม่ยอมเลิก แม้การแพร่ระบาดจะยุติไปแล้ว อย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือในฝรั่งเศส ซึ่ง นอม ชอมสกี้ นักปราชญ์หัวสังคมนิยมจากสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนประชาชนแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ กำลังก่อให้เกิดการกระตุ้นช่องว่างและการแข่งขันระหว่างประเทศ เพื่อการปรับดุลอำนาจใหม่ (Rebalancing Power) ให้รุนแรงขึ้น ในด้านการค้าจีนที่เคยนำโด่ง และสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ พอโดนไวรัสกระหน่ำเข้าไป ทำให้การค้าและการเติบโตชะงักงันลงอย่างเห็นได้ชัด จนไม่สามารถประกาศตัวเลขทางศรษฐกิจและ GDP ได้ ต้องเลื่อนไป จังหวะนี้เองสหรัฐฯก็เริ่มแผนรุกไล่ ด้วยการกดดันทางการค้ากับจีน และล้มเลิกข้อตกลงจากการเจรจาการค้าที่ได้ทำไว้ก่อนหน้า การแพร่ระบาดของโควิด นอกจากนี้ยังชักชวนพันธมิตรยุโรปให้ร่วมกันกดดดัน ด้วยข้ออ้างที่ว่า จีนเป็นตัวการแพร่ระบาดโควิด ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เสียหายยับเยิน จึงต้องชดเชยด้วยการยอมอ่อนข้อทางการค้า หากไม่ตกลงก็อาจมีการรวมหัวกันแซงซั่น ซึ่งจะทำได้หรือไม่ต้องติดตามต่อไป เฉพาะหน้าสหรัฐฯ อังกฤษ และจีน ก็ใช้ฮ่องกงเป็นสนามประลองยุทธ์กันแล้ว แต่ทรัมป์ไม่หยุดแค่นั้น ตั้งแต่เข้ามาเป็นประธานาธิบดีเขาได้ยกเลิกสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับการทหาร และอาวุธนิวเคลียร์ไป 3 ฉบับแล้ว เริ่มจากการยกเลิกข้อตกลงพลังงานนิวเคลียร์กับอิหร่านที่ 5 ชาติมหาอำนาจร่วมทำกับอิหร่าน ต่อมาก็คือ การถอนตัวจากสนธิสัญญาขีปนาวุธพิสัยกลาง INF ซึ่งทรัมป์ เสียงทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะสัญญานี้รัสเซียเสียเปรียบด้วย ในขณะลงนามโดยกอร์บาซอฟ สหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย ประธานาธิบดีรีแกนจึงได้ทีกดดันหนัก แต่ถ้ารัสเซียจะเป็นฝ่ายเลิกก่อนก็จะกลายเป็นจำเลยในเวทีโลก ปูตินจึงให้กองทัพรัสเซียทำการพัฒนาขีปนาวุธ โดยเฉพาะแบบมีหลายหัวรบ เท่านั้นเองก็เท่ากับไปกระตุ้นต่อมยะโสของทรัมป์ ทั้งๆที่เรื่องนี้กลาโหมเคยรายงานโอบามามาแล้ว และโอบามาทำแค่เตือนรัสเซีย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้สหรัฐฯก็อยากเลิกอยู่แล้ว โดยแอบซุ่มพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางอยู่ เพราะทันทีที่ถอนตัวแค่เดือนสองเดือน ก็ทำการทดลองขีปนาวุธใหม่ทันที มาถึงตอนนี้สหรัฐฯก็ประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้า เพื่อการตรวจสอบทางทหาร ซึ่งก็เข้าทางรัสเซียอีก โดยรัสเซียรู้ดีว่าการตรวจสอบโดยเครื่องบินตามสนธิสัญญานี้เกือบไม่มีความหมาย เพราะสามารถใช้ดาวเทียมทางทหารตรวจสอบได้อยู่แล้ว จึงแกล้งไม่อนุมัติให้สหรัฐฯเข้าบินสำรวจแถบทะเลบอลติก และชายแดนจอร์เจีย โดยอ้างว่ากำลังติดซ้อมรบอยู่ เท่านั้นก็ได้ผล ทรัมป์ประกาสถอนตัวจากสัญญาเปิดน่านฟ้าทันที เพื่ออวดศักดา ทั้งๆที่สหรัฐฯเข้าไปบินตรวจสอบรัสเซียกว่า 200 ครั้ง ในขณะที่รัสเซียไปบินตรวจสอบเพียง 70 ครั้งเท่านั้น ตั้งแต่ทำสัญญามา แต่ท่าทีของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ถอนตัวจากการควบคุมจำกัดอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธนี้ มันเป็นสัญญาณว่าสหรัฐฯโดยเฉพาะถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีในสมัยหน้า คงจะไม่ต่อสัญญา Start หรือชื่อเต็มว่า Strategic Arms Reduction Treaty ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 5 ก.พ.2021 โดยเนื้อหาสำคัญคือ การจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ เครื่องยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) และขีปนาวุธแบบยิงจากเรือดำน้ำ(SLBM) ทั้งนี้สหรัฐฯ เองก็เริ่มทดแทนจรวดรุ่นใหม่ในเรือดำน้ำเทนเนสซีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์แล้ว ข้ออ้างที่สหรัฐฯจะนำมาใช้ในการไม่ต่อสัญญาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ START นี้ ก็มีเหตุผลน่าฟังอยู่ กล่าวคือสัญญานี้เป็นการทำกันระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย แต่ไม่ได้รวมถึงจีนซึ่งกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่ขนานใหญ่ ขณะที่สหรัฐฯก็ไม่ได้พูดถึงอังกฤษและฝรั่งเศส และกองกำลังนาโต้ที่ก็มีการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์เพื่อถ่วงดุลกับรัสเซียตามแนวพรมแดน การดึงจีนมาร่วมลงนาม คงเป็นไปได้ยากและสุดท้ายสนธิสัญญานี้คงหมดอายุ และยกเลิกไปโดยปริยาย ซึ่งจะทำให้โลกหลังโควิด-19 เข้าสู่โหมดของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ อนึ่งยังไม่นับรวมเกาหลีเหนือ อินเดีย ปากีสถาน บราซิล อิสราเอล และอาจจะมีอิหร่านเข้ามาร่วมด้วย หากถูกคุกคามจากสหรัฐฯหนักๆ แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นไปได้ยาก แต่การแข่งขันกันสร้างสมอาวุธ และการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี ที่เรียกว่า Low Yield หรืออานุภาพต่ำ อันมีสายการบังคับบัญชาซับซ้อนน้อยกว่า เพราะมันแทบจะประจันหน้ากันในสนามรบทีเดียว นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำยิ่งกว่าการตกต่ำในปีค.ศ.1929 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเวลา 10 ปี จะทำให้แต่ละประเทศที่ยึดมั่นการพัฒนาด้วยการเน้นการเจริญเติบโตต้องยิ่งเร่งรีบขยายการค้า การส่งออก เพื่อสร้างอัตราการเติบโตให้สูงในแต่ละประเทศ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกประเทศจะทำได้แบบนั้น มันต้องมีทั้งได้และเสีย ปัญหาคือต่างก็ไม่ยอมกัน ยิ่งประเทศใหญ่เดิมพันสูงก็ยิ่งมีผลประโยชน์ต่อรองมาก อันจะนำมาสู่ความขัดแย้งในที่สุด สำหรับประเทศไทยการคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังโควิด-19 จึงเป็นไปได้ยาก หากไม่มีการเตรียมการวางแผนที่ดีพอ โดยเฉพาะการจ้างงาน ยิ่งผ่อนคลายช้าเท่าไรก็ยิ่งฟื้นตัวช้าขึ้นอีกหลายเท่า การฝันว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาบูม การส่งออกจะขยายตัวเหมือนเก่าก่อน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ตัวใครตัวมันละกันครับ