“สุริยะ”เผยกระแสการลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ช่วง ม.ค.-พ.ค.63 ดีกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ผลจากโควิด-19 และสงครามการค้าระลอกใหม่ ผลักดันต่างชาติเตรียมย้ายฐานผลิตออกจากจีนมาไทยขณะที่พานาโซนิคย้ายฐานการผลิต เป็นเพียง 2 จาก 18 โรงงาน ยันไม่เกี่ยวข้องความเชื่อมั่นลงทุนในไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมมาตรการฟื้นฟูโควิด-19 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ว่า ภาพรวมกระแสการลงทุนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ดีกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ด้านข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พบว่า ยอดขอตั้งประกอบโรงงานใหม่และขยายกิจการโรงงานประเภทไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบ 5 เดือนแรกของปี63 กับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา พบว่าการตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นจาก 43 โรงงาน เป็น 53 โรงงาน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จาก 9,372 คน เป็น 29,064 คน ทั้งนี้จากการสอบถามนักลงทุนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นักลงทุนชื่นชมการรับมือรัฐบาลไทยสามารถรับมือกับโควิดได้ดี ส่งผลเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น 5-10% อีกทั้งยังมีนักลงทุนที่ทำธุรกิจภายในประเทศอยู่แล้วมีแผนจะขยายการลงทุนภายในปีนี้เพิ่มขึ้นอาทิเช่น ซัมซุง มิตซูบิชิ โตชิบา ซีเกต ไซโจเด็นกิ เป็นต้น ส่วนการย้ายฐานการผลิตของพานาโซนิคไปลงทุนประเทศเวียดนาม 2 โรงงานนั้น เป็นการย้ายฐานการผลิตเฉพาะโรงงานที่ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเก่าคนไทยไม่ใช้สินค้าลักษณะนี้ จึงย้ายไปผลิตในเวียดนามเพื่อเน้นขายในประเทศเวียดนามเอง แต่พานาโซนิคยังเหลือโรงงานในไทยอีก 18 โรงงาน ซึ่งผลิตสินค้ากลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่า และยังมองว่าประเทศไทยน่าลงทุน ขณะที่โรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริคและโตชิบ้าต่างยืนยันขยายการลงทุนในไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยผู้ประกอบการที่พัฒนาตัวเองและเติบโตกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 400,000 ล้านบาท น่าจะใช้ตั้งกองทุนนี้ได้ ซึ่งจะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยขนาดกองทุนร่วมลงทุน น่าจะมีวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็นร่วมลงทุนประมาณร้อยละ 10-20 นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) ภาพรวมการยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ดีกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยมียอดโครงการยื่นขอรวม 62 โครงการ วงเงินลงทุน 27,400 ล้านบาท ช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามียอดโครงการยื่นขอรวม 50 โครงการ วงเงินลงทุน 26,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในเครื่องใช้ไฟฟ้าอัฉริยะเช่น สินค้ากลุ่ม IoT แอร์ ตู้เย็น ไมโครเวฟ เป็นต้น นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนญี่ปุ่น เช่น พานาโซนิค ไปยังเวียดนามนั้น เป็นการย้ายฐานสินค้าเทคโนโลยีเก่า นักลงทุนญี่ปุ่นรักเมืองไทยยังคงเลือกสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าไว้ที่ฐานการผลิตในไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 และแนวโน้มการเกิดสงครามการค้าในอนาคตที่จะมีขึ้น ส่งผลดีต่อประเทศไทยเพราะนักลงทุนทั้งจากสหรัฐฯ และยุโรป หลายชาติแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนจากจีนมาประเทศเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องในไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้า จากนี้ไปกระแสการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยจะเริ่มมีมากขึ้นซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุน