รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ อดีตอธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Seri Phongphit ระบุว่า... #อายุวัฒนะปฏิวัติ . (32) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (28-05-2020) . โลกรอวัคซีน หวังว่าจะมาอย่างช้าปีหน้า เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 รวมทั้งพัฒนายาเพื่อรักษาไปพร้อมกัน เชื่อกันว่าจะมีไวรัสตัวอื่นมาอีกอย่างแน่นอน คงต้องพัฒนาวัคซีนใหม่ไปเรื่อยๆ . อีกด้านหนึ่งก็มีการวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรม เพื่อทำให้คนมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพดี โดยมองว่าชราภาพเป็นความเจ็บป่วยชนิดหนึ่งที่สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีการไม่เพียงแต่ “ชะลอวัย” แต่เป็นการช่วยให้ “กลับวัย” หรือ “ย้อนอายุ” . คำว่า “กลับวัย” (reverse aging) คือกลับเป็นหนุ่มเป็นสาวอีก คนอายุ 120 เหมือนคนอายุ 80 คนอายุ 90 เหมือนคนอายุ 60 และไม่ใช่แค่ใบหน้าที่ต้องลงทุนมากมายไปทำศัลกรรม หรือปรับสแตมเซลล์ทำให้อายุยืน ที่ไม่ได้ประกันว่าจะมีสุขภาพดี . การกลับวัยที่กำลังพูดถึง เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่น่าจะเป็นการปฏิวัติวิทยาศาสตร์สุขภาพครั้งสำคัญของมนุษยชาติเลยทีเดียว เพราะมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) (โทมัส คูห์นนักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ บอกว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ มีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์) . สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ถ้าจริงและสำเร็จ จะทำให้คนอายุยืนอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพดี อายุเกินร้อยปีโดยไม่เจ็บป่วย และนอนตายแบบหลับไปเฉยๆ . นำความยาวเพื่อเล่าเรื่องของ Dr. David Sinclair และการค้นพบของเขา เป็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายฮังการี พ่อแม่อพยพไปออสเตรเลียในปี 1956 ที่มีการลุกฮือต่อต้านสหภาพโซเวียตและถูกปราบปรามหนัก เขาเรียนที่ซิดนีย์ ออสเตรเลียจนจบปริญญาเอกด้านพันธุกรรม แล้วไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่ MIT สหรัฐอเมริกา . ที่นั่นเองที่เขาได้เริ่มวิจัยว่า มีวิธีอะไรที่จะ “ต่อชีวิตให้ยืนยาว” (life longevity) ได้ โดยเริ่มทำกับ “ยีสท์” และทำสำเร็จ แต่ก็ได้รับการปรามาสจากผู้เชี่ยวชาญว่า ที่เขาจะทำกับคนในระยะยาวคงเป็นความเพ้อฝันเกินไป เพราะยีสท์กับคนต่างกันมากเหลือเกิน . แต่คนเราถ้าอยากทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ ต้องคิดใหญ่ แต่เริ่มจากเล็กๆ และเรียบง่ายอย่างกรณีของดร.ซินแคลร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมองเห็นศักยภาพของนักวิชาการหนุ่มผู้นี้ รับเข้าทำงานเป็นนักวิจัยเป็นอาจารย์ทันทีตั้งแต่ปี 1999 เมื่อเขาอายุ 29 ปี วันนี้เขาอายุ 50 ปี . เมื่อปี 2014 นิตยสารไทม์ให้เขาเป็น 1 ใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก และ 1 ใน 50 คนที่มีความสำคัญที่สุดในเรื่องสุขภาพ ไม่แน่ ถ้างานวิจัยของเขาสำเร็จและได้รับการยอมรับ เขาอาจได้รางวัลโนเบลในอีกไม่กี่ปีก็เป็นได้ . แต่คงเป็นงานหิน เพราะถูกต่อต้านหนักมาก เนื่องจากไปทำลายระบบเดิม เหมือนกาลิเลโอในยุคก่อน เขาต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมายในการทำงานวิจัยนี้ เพราะนี่คือการปฏิวัติวงการสุขภาพที่มีคนได้และคนเสียประโยชน์ . มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “ชราภาพ” (aging) มานาน มีการค้นพบสาเหตุหลากหลายแบบแยกส่วน พยายามหาวิธีชะลอวัย โดยไม่สามารถป้องกันโรคร้ายต่างๆ อย่างมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน อัมพฤกษ์อัมพาต . ชีวิตก็ยืนยาวด้วยยา ด้วยการรักษาในห้องพิเศษที่เต็มไปด้วยท่อและสายยาง อยู่นานๆ ค่าใช้จ่ายแพงมากจนหลายคนหมดเนื้อหมดตัวเพื่อดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง หลายกรณีเป็นการยื้อความตายไม่ใช่การต่อชีวิต (ความหมายที่ต่างกัน) . งานวิจัย 25 ปีของ Dr.David Sinclair ตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2019 ชื่อ Life Span, Why We Age and Why We Don’t Have to “ช่วงชีวิต ทำไมคนเราจึงแก่ ทำไมจึงจะไม่แก่” เขาเขียนร่วมกับนักเขียนมืออาชีพ (วิธีที่นักวิทยาศาสตร์ทำ เพื่อเขียนเรื่องวิชาการยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ แต่ก็ยังเข้าใจยากอยู่ดีถ้าไม่มีพื้นความรู้ทางชีววิทยาบ้าง หนังสือ Life Span เป็น best seller ของ New York Times) . ดร.ซินแคลร์บอกว่า เราเห็นการแก่ชราจนชาชิน เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ยอมรับโดยไม่ต้องทำอะไร แต่งานวิจัยของเขาพบว่า เมื่อรู้ต้นเหตุแล้วก็สามารถทั้งชะลอวัยและกลับวัยได้ . ต้นเหตุหลักของชราภาพ คือ การสูญเสียข้อมูล การขาดข้อมูล อ่านข้อมูลไม่ได้ อ่านได้น้อยลง เขาเรียกแนวคิดนี้ว่า ทฤษฎีข้อมูลชราภาพ ที่อธิบายว่า มีข้อมูลในพันธุกรรมอยู่ 2 แบบในตัวเรา คือ genetic และ epigenetic . อันแรกเป็นดิจิทัล อันหลังเป็นอะนาล็อค อันหลังนี้ทำหน้าที่คุมอันแรกให้เซลล์เป็นผู้อ่านข้อมูล epigenetic นี้เป็นส่วนที่ทำให้เราแก่ เพราะเป็นข้อมูลแบบอะนาล็อคที่สูญเสียได้คล้ายข้อมูลในเทปสมัยก่อน . ทำให้เข้าใจว่า เมื่อคนอายุมากขึ้น ระบบประสาทต่างๆ ก็หย่อนยานลง ทั้งผิวหนัง สายตา สมอง เพราะเซลล์ไม่รักษาข้อมูลของ epigenetic แต่เราสามารถรีแซ็ต หรือรีบู้ทได้เหมือนคอมพิวเตอร์ ซ่อมแซมให้กลับไปทำงานได้ดีเหมือนของใหม่ . เขาทดลองในหนูพบว่า เมื่อใส่สิ่งที่ทำให้หนูแก่ก่อนวัยเข้าไปในตัวหนู หนูจะขนเริ่มขาว แก่ภายนอกและอวัยวะภายในก็เสื่อมไปด้วย เขาพบว่า เมื่อทำให้แก่ได้ก็ทำให้หนุ่มสาวได้ หรือให้กลับวัยหรือย้อนอายุได้ . คำอธิบายก็คือ เมื่อโครโมโซมคือสารพันธุกรรมในร่างกายเสื่อมลงหรือแตก ก็จะทำให้ดีเอ็นเออ่อนแอลง เซลล์จะสูญเสียอัตลักษณ์ ทำงานไม่ได้ ถ้าเป็นที่สมองก็จะทำให้เกิดโรคสูญเสียความจำ (dementia) เป็นอัลไซเมอร์ และผลสุดท้ายที่เกิด คือ ชราภาพ . เขาได้ทดลองกับหนูพบว่า เมื่อทำให้เกิดรอยขีดข่วนที่ดีเอ็นเอของหนู หนูจะแก่เร็วขึ้นกว่าปกติ 50% แต่ถ้าหากใส่ไวรัสกับเซลล์บางอย่างตามทฤษฎีของ Shinya Yamanaka ชาวญี่ปุ่นที่ได้รางวัลโนเบลที่ทำให้เซลล์ที่โตแล้วเป็นสแตมเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) เข้าไปในบางอวัยวะ เช่น ตา ก็ทำให้ตามองเห็นดีขึ้น เพราะไปฟื้นฟูประสาทตาที่คิดว่าเสียไป ไป “อ่านข้อมูลเก่า” ที่รีบู้ทขึ้นมาใหม่ . ปีหน้าเขาจะทดลองกับคนที่เป็นต้อหิน เพราะเชื่อว่า ยังสามารถฟื้นฟูประสาทตาให้กลับมามองเห็นได้อีก เป็นอะไรที่วันนี้แพทย์ยังรักษาไม่ได้ . (ยกเว้นกรณีคุณหมอสมเกียรติ อธิคมกุลชัย ที่รักษาโดยวิธีให้คนไข้นวดตาเอง หรืออาจารย์ประเสริฐ นพคุณขจร ที่ใช้การต่อยผึ้งที่ขอบตา เพื่อกระตุ้นประสาทตา ทำให้คนสูงอายุที่ตาฝ้ามัวมองเห็นได้ชัดเจน คงเป็นหลักการเดียวกัน) . ดร.ซินแคลร์อธิบายว่า กระบวนการนี้ไปรีแซ็ทโปรแกรมที่เรติน่าตาของหนู ทำให้ประสาทตาตื่น “ฟื้นความจำ” ซึ่งสามารถใช้ได้กับอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วยหลักการเดียวกัน คือ การไปฟื้นฟูหรือรีแซ็ทระบบเซลล์ต่างๆ ให้กลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม . เขาสารภาพว่า ยังไม่ได้เข้าใจกลไกและกระบวนการทั้งหมดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่อธิบายได้วันนี้ คือ มีเอนไซม์ที่เรียกว่า TET1, TET2 ที่ทำหน้าที่นำสารเคมีออกมาจากดีเอ็นเอ เพื่อรีแซ็ทระบบ ถ้าไม่มีแอนไซม์ตัวนี้ในตา หนูก็ไม่อาจรีแซ็ทระบบ เพื่อกลับมามองเห็นได้ . การรีแซ็ทในร่างกายทำให้ “กลับวัย” ดร.ซินแคลร์บอกว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะรีแซ็ทได้กี่ครั้ง แต่ละครั้งจะอยู่ได้นานเพียงใด อายุขัยจะยืนยาวได้นานเท่าใด . เขาพบว่า ร่างกายของเรามีสารเคมีที่เรียกว่า NMN ที่ลดลงและอาจหายไปเมื่ออายุมากขึ้น มีความสำคัญต่อร่างกายมากเพราะทำให้ดีเอ็นเอทั้งหมดมั่นคงแข็งแรง และปกป้องจาก “การขีดข่วน” ที่ทำให้ “อ่านข้อมูล” ไม่ได้ เขาบอกว่า ความจริง สารตัวนี้มีอยู่ในยารักษาเบาหวาน (metformin) ที่ทำให้คนจำนวนมากดูหนุ่มสาวขึ้น . แต่การได้ยา metformin ต้องให้หมอสั่ง เขาบอกว่า ไม่กินยาก็ทำได้หลายวิธี คือ การกินอาหารน้อยลงและออกกำลังกายก็ช่วยได้ อดอาหารแบบกินน้อยครั้งลง แบบที่เรียกว่า การอดเป็นระยะๆ (intermittent fasting) วิธีการบนฐานคิดจากการวิจัยของคนญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งที่ได้รางวัลโนเบล ที่ทำให้ได้ทั้งลดน้ำหนักและสุขภาพดี . การอดมีหลายแบบ อาจอดสัปดาห์ละ 1-2 วัน หรืออดทุกวัน 18 ชั่วโมง กิน 6 ชั่วโมง ดร.ซินแคลร์ไม่ทานอาหารเช้า ทานเที่ยงหรือไม่ทานเลย แต่ไปทานมื้อเย็นตามปกติ เขาดูสุขภาพดี ไม่มีโรคอะไร . การอดอาหาร ทำให้เกิดความหิว ความหิวทำให้กลไกการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของเราทำงาน นี่จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ร่างกายของเรา “ตื่น” และทำให้ทำงาน ปกป้องตนเองจากโรคต่างๆ ได้ . ดร.ซินแคลร์เชื่อว่า คนรุ่นนี้อาจมีชีวิตอยู่ได้ 120 ปี อย่างมีคุณภาพ ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ ร้อยปียังจะทำงานได้ ประกอบอาชีพที่สองที่สามได้ ยังเล่นกีฬาหลายชนิดได้ . ดร.ซินแคร์ บอกว่า วันนี้สามารถคาดการณ์อายุขัยของคนได้อย่างแม่นยำ เพียงนำเลือดไปอ่านในห้องแล็บก็จะบอกได้ หลายปีก่อน ตอนที่เขาเครียดกับการทำงานและงานวิจัย อายุขัยของเขาอยู่ที่ 56 ปี เมื่อเขาปรับตัวได้ ชีวิตเขายาวขึ้นอีก 31 ปี วันนี้เขาบอกว่า เขาน่าจะมีอายุเกิน 100 ปี . ดร.ซินแคลร์และคณะทำงานวิจัยมากมาย จดสิทธิบัตรกว่า 35 เรื่อง ตอนที่ค้นพบสาร resveratrol ในองุ่นแดงที่มีพลังในการไปกระตุ้นการทำงานในดีเอ็นเอ ทำให้คนอายุยืนนั้น เมื่อปี 2008 เขาได้ขายให้บริษัทยาอังกฤษ GlaxoSmithKline เป็นเงิน 25,000 ล้านบาท ที่กำลังพัฒนายาที่สะกัดจากองุ่นแดง เป็นยาอายุวัฒนะ ไม่เช่นนั้น คนต้องกินไวน์แดงวันละหลายร้อยแก้วจึงจะเพียงพอที่จะ “ชะลอวัย” และ “กลับวัย” ได้ . ผมเขียนเรื่อง “กลับวัย” ของดร.ซินแคลร์ ด้วยความหวังอยากเห็นสังคมสูงวัยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคสารพัด ทุกข์ทั้งคนแก่และลูกหลาน . อย่างไรก็ดี ไม่ได้คิดว่า ยาที่บริษัทจะผลิตออกมาเป็น “ยาวิเศษ” ที่ทำให้คนอายุยืนเป็นหมื่นปี หรือเป็นอมตะได้ แต่ถ้าหากมันช่วยให้คนมีชีวิต 10 ปีสุดท้ายอย่างมีคุณภาพ สุขภาพดี มีภูมิต้านทานโรครวมทั้งไวรัสใหม่ๆ ก็จะเป็นการปฏิวัติไม่ใช่แต่ด้านสุขภาพ แต่สังคมในทุกด้านเลยทีเดียว . ไม่รู้ว่าวันนั้นวงการสาธารณสุข โรงพยาบาล แพทย์ อุตสาหกรรมยาจะเปลี่ยนไปอย่างไรถ้ามีคนไข้น้อยลง โดยเฉพาะโรคร้ายแรงเรื้อรังต่างๆ . เขาบอกว่า วันนี้ที่ยังไม่มียาก็ทำได้ โดยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย และการอดอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการเลิกพฤติกรรมทำร้ายตัวเองอย่างการสูบบุหรี่ การดื่มกินที่ไม่พอดี อดหลับอดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ เหล่านี้ทำให้คนแก่ชราเร็วขึ้นและมีชีวิตบั้นปลายที่ทุกข์ทรมาน . ภูมิปัญญาบ้านเราก็มีมากมาย ทั้งอาหารการกิน การฟื้นฟูดูแลสุขภาพ และเราก็เห็นผู้สูงอายุที่มีชีวิตบั้นปลายที่มีคุณภาพมากมาย เป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตที่ดี มีสุขภาพแบบองค์รวม ที่ดีอย่างรอบด้าน . แต่ “สังคมบ้าบริโภค” กระตุ้นให้เรากินเกินพอดี ทำให้กลไกเพื่อการอยู่รอดไม่ทำงาน แก่ง่ายตายเร็ว เพราะกินมาก กินทั้งวัน กินไม่หยุดจึงเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ . ปู่ย่าตายายจึงสอนว่า “กินน้อยตายยาก กินมากตายไว”