เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเชื่อมโยงกับผู้คนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผนึกกำลังร่วมมือกันสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชน เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เพิ่มความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในการเดินทางท่องเที่ยว ปรับตัวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่นับจากปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้นตามลำดับ โดยในขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคและกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลางของแต่ละกิจการและกิจกรรม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และพิจารณาปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและสามารถเดินทางได้มากขึ้นในการผ่อนปรนระยะถัดไป พิพัฒน์ รัชกิจประการ ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากวิกฤติดังกล่าว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ได้รับผลกระทบและอาจจะเป็นอุตสาหกรรมสุดท้ายที่ฟื้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวครั้งสำคัญเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยได้มอบหมายให้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี โดยนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ คือ การยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัย กระตุ้นให้สถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมในการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) สร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในการเดินทางท่องเที่ยว และทำให้การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งเสาหลักทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป กำหนดแนวทางป้องกันโรค ขณะที่ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัย ด้วยการกำหนดแนวทางการป้องกันโรค เพื่อช่วยทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว โดยอยู่บนพื้นฐานการปรับตัวและพัฒนายกระดับด้านสุขอนามัยและสุขาภิบาล (Hygiene and Sanitation) ให้ดียิ่งขึ้นเพราะเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร  อีกทั้ง ต้องอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อใช้ชีวิตวิถีใหม่ของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขและ ททท. จึงได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐาน Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA พร้อมกันนี้ทางกรมอนามัย ยังมีคู่มือและแนวทางการดำเนินงานที่สนับสนุนสถานประกอบการในภาคการท่องเที่ยวและการกีฬา รวมทั้งยังมีทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งระดับเขต จังหวัด อำเภอ ที่มีความรู้และสามารถให้คำแนะนำด้านการป้องกันโรค สุขลักษณะ สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมช่วยขับเคลื่อนร่วมจัดทำแผนงานอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย(SHA ) เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาใช้บริการหลังจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทาง โยทางผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มีการปรับปรุงทั้งด้านการบริการ และด้านสุขอนามัยให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุข โดยกิจการที่สามารถขอรับมาตรฐาน SHA แบ่งเป็น 10 ประเภทกิจการ ดังนี้ 1. ประเภทภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2. ประเภทโรงแรม/ที่พักและสถานที่จัดประชุม 3. ประเภทนันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 4. ประเภทยานพาหนะ 5. ประเภทบริษัทนำเที่ยว 6. ประเภทสุขภาพและความงาม 7. ประเภทห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 8. ประเภทกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว 9.ประเภทการจัดกิจกรรม การจัดประชุม (MICE) โรงละคร โรงมหรสพ และ 10. ประเภทร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้า อื่นๆ โดยมีมาตรฐานเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรคของทุกสถานประกอบการ จะต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. สุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร 2. การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และ 3. การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ มีรายละเอียดของมาตรฐานเฉพาะประเภทกิจการเพิ่มเติม โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้รับตราสัญลักษณ์ SHA ต่อไป ยุทธศักดิ์  สุภสร ทั้งนี้ ทาง ททท. จะเป็นผู้ควบคุมการออกตราสัญลักษณ์โดยการระบุหมายเลขของตราสัญลักษณ์ SHA ให้แก่ผู้ประกอบการ บันทึกเป็นฐานข้อมูลรายชื่อ ซึ่งมีอายุ 2 ปี และหากพบว่าผู้ประกอบการไม่สามารถรักษามาตรฐาน SHA ได้ ในเบื้องต้นจะแจ้งให้ผู้ประกอบการพัฒนาและปรับปรุง หากยังไม่สามารถรักษามาตรฐานได้ก็จำเป็นต้องเพิกถอนตราสัญลักษณ์และตัดรายชื่อออกจากฐานข้อมูล SHA สำหรับสถานประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด โดยสามารถศึกษาแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐาน SHA ซึ่งดาวน์โหลดเป็น e-Book ได้ที่ https://thailandsha.tourismthailand.org/ebook จากนั้นปรับปรุงสถานประกอบการให้เป็นไปตามมาตรฐาน SHA และสมัครขอรับการตรวจและรับตราสัญลักษณ์ SHA ได้ที่ www.tourismthailand.org/thailandsha หลังจากนั้น พันธมิตรของโครงการ เช่น สภา สมาพันธ์ หรือสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการนั้น ๆ เป็นสมาชิก จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ (Checklist) และให้การรับรองว่าผู้ประกอบการได้ดำเนินการตามมาตรฐาน SHA หรือหากไม่เป็นสมาชิกของสมาคมท่องเที่ยวใด ททท. จะประสานผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบ ทั้งนี้ ททท. จะเป็นผู้รวบรวมขั้นตอนสุดท้ายก่อนมอบตราสัญลักษณ์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์